นิวซีแลนด์ประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 แล้ว หลังสู้รบมานานกว่า 3 เดือน โดยนิวซีแลนด์มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโรคนี้สะสม 1,154 ราย เสียชีวิต 22 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อโรคนี้รายใหม่ในนิวซีแลนด์มาแล้ว 17 วัน จนถึงวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรักษาอยู่เพียงรายเดียว (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน) นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ แถลงว่า ในปัจจุบันเรากำจัดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไปจากนิวซีแลนด์ได้แล้ว พร้อมลดระดับการป้องกันไวรัสจากระดับ 4 เป็นระดับ 1 โดยยกเลิกมาตรการ เช่น ให้เว้นระยะห่างทางสังคมและจำกัดจำนวนการรวมตัวในที่สาธารณะ แต่ยังคงมาตรการควบคุมชายแดน โดยทุกคนที่จะเดินทางเข้าประเทศจะต้องมีการตรวจว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่ สำหรับประเทศไทย แม้สถานการณ์จะคลี่คลายในระดับหนึ่งแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 4 และการพิจารณาว่าจะคงพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะกระแสเรียกร้องจากพรรคการเมือง ที่ต้องการให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน และธุรกิจ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “วิกฤติโควิด-19 ยังไม่ผ่านพ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีรายงานผู้ป่วยมากกว่าวันละแสนราย และที่ไม่มีรายงานอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ และขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย ถึงแม้ว่าการระบาดจุดใหญ่จะลงสู่ประเทศอเมริกาใต้ แต่ประเทศที่ใกล้บ้านเราอย่าง อินเดีย และบังกลาเทศ ยังมีการระบาดอย่างรุนแรง โอกาสที่จะข้ามประเทศ แบบค่อยเป็นค่อยไป มีความเป็นไปได้ ซึ่งในปีนี้ เราจะต้องมีความเคร่งครัดในการควบคุม ดูแลป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในบ้านเรา รวมทั้งทุกคนจะต้องดูแลสุขอนามัย ป้องกันตนเอง ช่วยกันเฝ้าระแวงระวัง และเมื่อมีการเปิดเทอม โรคระบบทางเดินหายใจ โรคต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้มีการควบคุม ป้องกัน ขณะที่ข้อมูลการระบาดในโรงเรียนของทั่วโลกยังมีน้อย ซึ่งเราต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ เพราะเด็กเมื่อติดโรคจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จึงต้องเฝ้าระวังและสุ่มตรวจ หลังการผ่อนปรนกิจการทุกอย่างที่เกิดขึ้นการกำหนดระยะห่าง ตามวิถีชีวิตใหม่ การป้องกันเขา และป้องกันตัวเรา ด้วยการใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งวิกฤตินี้จะผ่านพ้นไปก็ต่อเมื่อมียารักษาที่ดี หรือวัคซีนในการป้องกัน” ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อพิจารณาพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อแล้ว หลายเรื่องไม่สามารถบริหารจัดการเหมือนอย่างใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เลย ทั้งนี้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่รมว.สาธารณสุขตั้งขึ้นมา ไม่สามารถบูรณการทหารพลเรือนเข้ามาได้ โดยเฉพาะการบังคับให้เข้าสถานกักกันโรคของรัฐ “เมื่อประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงปิดสนามบิน ถ้าเราไม่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปปิดสนามบิน จะอธิบายกับสายการบินไม่ได้ วันนี้เราให้เหตุผลว่าเป็นเพราะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากเหตุโควิด-19 และบางอย่างแม้ไม่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถดำเนินตามมาตรการได้ เช่น การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล” เราเห็นว่า ไม่ว่ารัฐจะเลือกต่ออายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ การผ่อนคลายให้ประชาชนได้ทำมาหากินให้ยืดหยุ่นมากที่สุด รักษาสมดุลไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดของทุกฝ่ายเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อไม่ให้สถานการณ์ตีกลับและคลี่คลายปัญหาปากท้อง