รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ “อาหารจานเดียว” อาหารที่มีทั้งข้าวและกับข้าวอยู่ในจานเดียวกัน หรืออาจเป็นอาหารอื่นที่ปรุงสำเร็จอยู่ในจานเดียวกัน อาจเป็นอาหารไทยหรืออาหารที่ดัดแปลงมาจากชาติอื่น หรืออาหารชาติอื่นที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย • อาหารจานเดียวที่รู้จักมักคุ้นกันก็คือประเภท “ข้าว” กับประเภท “เส้น” ! • อาหารจานเดียวมักจะเป็นอาหารคาว • อาหารจานเดียวแต่ก่อนมักจะเป็นอาหารมื้อกลางวัน แต่ปัจจุบันดูจะไม่เลือกมื้อเสียแล้ว แต่ก่อนเคยมีความเชื่อกันว่า อาหารจานเดียวมักจะให้สารอาหารไม่ครบถ้วน ณ วันนี้ การปรุงแต่งที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการถูกเติมเต็ม จนมีคนให้นิยามว่า “อาหารจานเดียว คืออาหารที่ให้คุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ ในหนึ่งจาน” นอกจากนั้นยังระบุในคุณประโยชน์อาหารจานเดียวไว้อย่างชัดเจนว่า... ให้สารอาหารครบตามความต้องการของร่างกาย ประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารแต่ละมื้อ รวมทั้งสร้างอุปนิสัยในการบริโภคขั้นพื้นฐานคือ การกินอยู่อย่างง่ายๆ ประหยัด ถูกหลักโภชนาการอีกด้วย อาหารจานเดียว เป็นอาหารของผู้บริโภคแต่ละคน ที่สามารถตอบสนองความถูกใจโดยเป็นไปตามรสนิยมของแต่ละคน จึงมีเมนูที่หลากหลาย สามารถเลือกหาได้ในแต่ละมื้อที่ไม่ซ้ำซาก (ถูกจริตคนขี้เบื่อ) ที่สำคัญ “เป็นจานเฉพาะตัว ไม่ต้องใช้ช้อนกลาง”! หยุดการแพร่เชื้อในยุคโควิด-19 ระบาดได้อย่างเป็นรูปธรรม (ทันสมัยจริงๆ) ถ้าจะให้เห็นพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานเดียวที่ชัดเจน คงต้องมองผ่านข้อมูลของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่สอบถามผู้บริโภคอาหาร จานเดียว จำนวน 1,566 คน ระหว่างวันที่ 5 - 9 มิถุนายน 2563 พบ 10 รายการอาหารจานเดียวยอดนิยม ซึ่งจัดลำดับได้ดังนี้ ลำดับที่ 1 ก๋วยเตี๋ยว 80.19 % ลำดับที่ 2 ข้าวผัดกะเพรา 77.76% ลำดับที่ 3 สุกียากี้ 76.69% ลำดับที่ 4 ผัดไทย 72.62% ลำดับที่ 5 ข้าวไข่เจียว 71.89 % ลำดับที่ 6 ขนมจีนน้ำยา/น้ำพริก/แกงเขียวหวาน 71.78% ลำดับที่ 7 ข้าวหมูแดง หมูกรอบ 71.63% ลำดับที่ 8 ข้าวราดแกง 71.49% ลำดับที่ 9 ข้าวมันไก่ 71.39% ลำดับที่ 10 ราดหน้า 71.01% ถ้าจะเจาะลึกลงไปแต่ละกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการอาหารจานเดียวจะพบว่า นิสิต นักศึกษาและผู้ที่อยู่ในวัยทำงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ “กินอยู่ง่าย” และเป็นลูกค้าขาประจำอาหารจานเดียว อาหารจานโปรดยอดนิยม ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว 82.82 % ตามมาติด ๆ ด้วยสุกียากี้ 81.90% ข้าวผัดกะเพรา78.09% ข้าวมันไก่ 77.27% ข้าวผัด 74.86% ข้าวไข่เจียว 74.61% ข้าวหมูแดง หมูกรอบ 74.37% และข้าวราดแกง 74.08% ส่วนผู้สูงอายุ(เกิน 60 ปี) อาหารจานเดียวที่ครองใจคือ ผัดไทย 78.53% ตามมาด้วย ข้าวผัดกะเพรา 78.40% ก๋วยเตี๋ยว 76.77% ราดหน้า 75.68% และขนมจีนน้ำยา/น้ำพริก/แกงเขียวหวาน 75.41% ผลสำรวจนี้เจาะใจกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่การระบาดของโควิด – 19 ยังไม่จบสิ้น พฤติกรรมเรื่องความสะอาด ถูกหลักโภชนาการ ความสะดวก ปลอดภัย กินได้คนเดียว ... “อาหารจานเดียว” จึงตอบโจทย์ได้ค่อนข้างลงตัว จากเหตุการณ์โควิด-19 ที่เข้ามามีส่วนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับตัวเอง “อาหารจานเดียว” จึงเป็นตัวเลือกที่มาแรง ทำให้รายการอาหาร เดลิเวอรี่ของแต่ละร้านไม่อาจมองข้าม “อาหารจานเดียว” โดยต่างก็พยายามจับใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด การเรียนรู้กลยุทธ์ของผู้ประกอบการอาหารจานด่วน (Fast Food) ที่คนอเมริกันเป็นต้นแบบ อย่าง KFC , McDonald’s, Burger King ที่ผู้ประกอบการอาหารจานเดียวนำมาประยุกต์จนทำให้ผู้บริโภคลืมคำว่า “อาหารขยะ” “อ้วน/โรคหัวใจ” ไปได้อย่างสนิท ทั้งนี้เพราะ “อาหารจานเดียวแบบไทย(แท้ๆ)” ที่รังสรรค์ปรุงแต่งจนฮิตไปทั่วโลก!! ลบคำปรามาสดังกล่าวได้อย่างหมดสิ้น มิน่าเล่า ! ร้านอาหารเดลิเวอรี่จึงเปิดเมนู “อาหารจานเดียว”รองรับลูกค้าแบบเอาใจสุด ๆ กันทุกร้านเลย