สถาพร ศรีสัจจัง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วิโชค มุกดามณี น่าจะเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 คนแรกของคณาจารย์ในวงการศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งนี้นอกจากจะสะท้อนถึงผลงานสร้างสรรค์อันทรงค่า และ ผลงานทางวิชาการอันเกี่ยวแก่การศิลปะที่เปี่ยมเต็มด้วยองค์คุณแล้ว ยังสะท้อนถึงบุคลิกของความเป็น “คนตั้งใจจริง” ในภารกิจที่ตนเองเชื่อ และ ให้ค่าอีกด้วย เพราะการขอเลื่อนระดับจากศาสตราจารย์ระดับ 10 เป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 นั้น มีการระบุคุณสมบัติผลงานของผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งนี้อย่างเป็นพิเศษยิ่ง
ศ.วิโชค มุกดามณี ศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ ม.สงขลา ลาโลกนี้ไปอย่างสงบ ด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยวัย 67 ปี เหลือไว้เพียงผลงานทางศิลปะ/ผลงานข้อเขียนทางวิชาการ/ศิษย์ที่อาจารย์วิโชคได้มีส่วนบ่มเพาะทั้งทางตรงและทางอ้อม(จำนวนมาก) และอื่นๆ รวมถึงลูกชาย ที่ชื่อ ดร.วิชญ(วิน) มุกดามณี นักวิชาการ(อาจารย์มหาวิทยาลัย/ Phd.ทางศิลปะจากอังกฤษ) และ ศิลปินรุ่นใหม่อนาคตไกล ผู้สืบสอดปณิธานการสร้างสรรค์งานศิลปะของ ศ.วิโชค อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด
ศ.วิโชค มุกดามณี ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) เมื่อปีพุทธศักราช 2555
ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดหรือทำงานร่วมกับ อ.วิโชค (ต่อไปขออนุญาตถือวิสาสะเรียก ศ.วิโชคฯว่า
“อ.วิโชค” แบบที่คุ้นปากคุ้นความรู้สึกมานาน!) จะรู้ว่า ชีวิตของอาจารย์นั้นดูจะมีภารกิจอยู่ไม่กี่เรื่อง ที่ชัดๆก็คือนอกจากจะเป็นผู้ชายประเภท “แฟมิลี่ แมน” คือรักครอบครัวมาก (โดยเฉพาะภรรยา และ ลูกชาย หัวแก้วหัวแหวนคนเดียวที่ชื่อ ดร.วิชญ คนนั้น(แต่ที่บ้านเรียก “วิน”) แล้วก็คงมีแค่อีกเรื่องเดียวคือ “งาน”
“งาน” ของ อ.วิโชค นั้นนอกจากงานสอนที่ ม.ศิลปากร ทั้งในระดับ ป.ตรี-โท-เอก ซึ่งต้องถือว่าเป็น “งานประจำ”แล้ว อาจารย์ยังมีงานอื่นๆที่สำคัญไม่น้อยไปกว่างานประจำอีกเป็นจำนวนมาก เช่น งานสร้างสรรค์ศิลปะของตัวเอง (อาจารย์มีกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อจัดแสดงมาโดยตลอดทุกระยะแห่งชีวิต) งานเป็นผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ งานกรรมการสภามหาวิทยลัย(หลายแห่ง) งานบรรยายพิเศษ งานเป็นกรรมการ งานการเป็น Organizer (นักจัดการโครงการ) งานที่ปรึกษา งานวิทยากร ฯลฯ
เฉพาะงาน “วิทยากร” และ งาน “กรรมการ” นั้น ในรอบประมาณกว่า 10 ปี ที่มีโอกาสได้ร่วมทำกันมา พบว่า
(ตั้งแต่อาจารย์ยังไม่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ) อาจารย์ไม่เคยปฏิเสธการร่วมงานเลยสักครั้ง โดยเฉพาะโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ซึ่งปีหนึ่งๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดขึ้นไม่น่าจะน้อยกว่า 5 ครั้ง งานดังกล่าวหลายครั้งต้องเดินทางไปต่างจังหวัดกันอย่างทุลักทุเลพอสมควร แต่ทุกคนที่ร่วมงานก็จะพบว่าอาจารย์วิโชคจะยิ้มร่วน และ คุยกับทุกคนด้วยความเป็นคนอารมณ์ดี,คนมองโลกเชิงบวกเสมอ!
โดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวกับ “การจัดการ” ดูเหมือนอาจารย์วิโชคจะถนัดและทำได้ดีเป็นพิเศษ เคยเห็นท่านทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการตัดสินงานศิลปะหลายครั้ง ท่านสามารถประสานทรรศนะที่ขัดแย้งในวงประชุมได้ดีจนลงเอยกันด้วยความเรียบร้อยทุกครั้งไป
จากการได้มีโอกาสใกล้ชิดอยู่บ้าง พบว่า ท่านอาจารย์วิโชคเป็นผู้มี “วิญญาณครู” สูงมาก ทุกครั้งที่มีศิษย์หรือเด็กๆมาขอหารือเรื่องราวเกี่ยวกับงานหรือศิลปะ อาจารย์จะให้คำแนะนำอย่างอดทน เข้าใจง่าย และด้วยท่วงทำนองสนอกสนใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำให้พอพ้นไปทีเหมือนที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมักจะเป็นกัน!
จุดเด่นที่สุดของท่านอาจารย์วิโชคในฐานะศิลปินและนักวิชาการก็คือการไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่!
ได้มีโอกาสไปดูงานต่างประเทศกับอาจารย์อยู่บางครั้ง สิ่งที่เห็นคือ ทุกครั้งที่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะดีๆ อาจารย์จะตื่นตัวในการเก็บข้อมูลอย่างมาก ทั้งถ่ายรูป ทั้งจด ทั้งสอบถาม เมื่อสอบถามว่าทำไมอาจารย์จึงดูเอาจริงเอาจังขนาดนั้น อาจารย์วิโชคตอบว่า “ผมต้องสอนหนังสือและไปบรรยายบ่อย ของพวกนี้มีประโยชน์ให้หยิบฉวยมาใช้ได้มาก” ฯลฯ
ข้อเด่นของอ.วิโชคอีกประการก็คือเป็นผู้มีคารวะธรรมอย่างยิ่ง มีความเคารพครูบาอาจารย์และรุ่นพี่อย่างแท้จริง ครั้งหนึ่งในวงคุยที่เมืองสเปน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับ พูดคุยให้เด็กนอกวงการคนหนึ่งฟังอย่างสนุกเกี่ยวกับเกร็ดคำพูดที่เป็นอมตะบางเรื่องของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (อ.วิโชค นั่งอยู่ในวงด้วย)ว่า อาจารย์ศิลป์ด่าพวกผมว่า “พวกนายจะไปรู้อะไร พวกนายไม่อ่านหนังสือ”
ตอนนั้นอ.วิโชคได้แต่ยิ้มๆ ไม่พูดอะไร แต่พอกลับถึงห้องพัก อาบน้ำอาบท่า ลงมาหา “ซอฟต์ดริงก์” ดื่มกัน ท่านอาจารย์ก็คุยต่อในเรื่องเดียวกันอย่างครึกครื้น โดยเน้นความคิดของตัวเองว่า “พี่หวันเล่าสนุก แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ศิลป์นะ คนทำงานศิลปะต้องเปิดโลกเปิดความคิดด้วยการอ่านเยอะๆ” และท่านก็สรุปความเห็นลงในทำนองว่า “การอ่านหนังสือ คือการอ่านความคิดของผู้อื่น”!
เช่นนี้เองกระมัง ครั้งนั้นจึงเห็น อ.วิโชค ซื้อหนังสือศิลปะเล่มหนาๆหนักๆอย่างดุเดือดทั้งที่สเปนและอังกฤษ ทั้งที่รู้ว่ายากในการขนกลับเมืองไทยอยู่ไม่น้อย!!
ฯลฯ
วินาทีนี้ จึงขอคารวะท่านศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์(ระดับ 11) วิโชค มุกดามณี ด้วยหัวใจคารวะและรำลึกถึงยิ่ง และขอส่งท้ายถ้อยความถึงท่านด้วยวาทะของ Editor ของ MiX Magazine ที่เขียนถึงอ.วิโชค มุกดามณี ไว้ตอนหนึ่งว่า :
“ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินชั้นเยี่ยม ท่านคือผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะนักวิชาการ นักจัดการแวดวงศิลปะ ท่านมีผลงานสร้างชื่อเสียงไปทั่วอุษาคเนย์ และเป็นผู้เปิดประตู่สู่ยุโรป อเมริกา ท่านคือรัตนชาติ ที่เปล่งรัศมีแห่งสีสัน สะท้อนวิถีอารยชน เคี่ยวกรำจนเข้มข้น เห็นเนื้อในแห่งตัวตน...”