จากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างก่อนหน้านี้ ที่มีดาราชื่อดังและคนในแวดวงกีฬามวยติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การสอบสวนโรคและติดตามเป็นการระบาดครั้งใหญ่นั้น พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการจัดแข่งขันชกมวยจนเป็นจุดแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แถลงผลการตรวจสอบพบว่า มีความบกพร่องที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ตามที่ตนเองคิดว่า จะสามารถดำเนินการได้จริง ทำให้เกิดความเสียหาย โดยเสนอให้มีการปลดคณะกรรมการสนามมวยทั้งหมด รวมถึงนายสนามมวย(เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ) โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ดำเนินการ เรื่องในการปรับย้าย ให้เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกช่วยราชการแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดเรื่องใหม่ๆ แต่ไม่ได้เปิดเผยผ่านสื่อ กรณีดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนของประเทศไทย ในการต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้การ์ดตก แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาจะพบจากคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อกลับมาตุภูมิ โดยไม่มีนัยสำคัญที่สะท้อนการติดเชื้อภายในประเทศ แม้จะมีการผ่อนปรนระยะที่ 3 แล้วก็ตาม ในการผ่อนปรนระยะที่ 4 ซึ่งจะเป็นกลุ่มกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรมที่จะผ่อนปรนในระยะนี้ 1.โรงเรียนและสถาบันการศึกษา 2.การถ่ายทำรายการ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ 3.สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา โรงยิม 4.สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุ 5.อุทยานแห่งชาติ สวนรุกขชาติ เป็นเฉพาะสถานที่ส่วนราชการกำหนดและสามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ 6.การจัดแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนต์ จัดแสดงสินค้า พื้นที่เกิน 20,000 ตารางเมตร 7.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 8.ชายหาด ชายทะเล 9.ห้องประชุม 10.สวนสนุก สวนน้ำ สนามเด็กเล่น ร้านเกมส์ 11.สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และ 12.สถานบริการอาบอบนวด เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก พูดคุยกันก็ต้องมองในหลายมิติ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ได้มีหารือกันทุกวัน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ระบุว่า หากกิจกรรมใดที่พร้อม ก็สามารถเปิดได้ก่อน แต่จะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะสิ่งที่รัฐควรดำเนินการประกอบด้วย หนึ่ง มาตรการสร้างค่านิยมในการใช้ชีวิตแบบตั้งการ์ดให้เป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น สอง ชะลอการพิจารณาโปรโมทการท่องเที่ยวภายในประเทศจนกว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศครบ 2-4 สัปดาห์ และหาก ไม่อยากพลาด ก็ขอให้เลข 0 ภายในประเทศครบ 30 วัน เพราะมีหลักฐานวิชาการพบว่ามีการติดเชื้อแล้วระยะฟักตัวยาวไปเป็นเดือนได้ สาม ปิดประตูเรื่องการท่องเที่ยวจากต่างประเทศต่อไปก่อน ควรขยายเวลาการปิดไปเป็นสิ้นเดือนก.ค. และพิจารณาขยายเวลาต่อตามสถานการณ์และสี่ควรขันน็อตระบบการติดตาม กำกับ ตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินการตามกฎระเบียบสำหรับธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ รวมถึงในหน่วยงานรัฐด้วยว่าได้ปฏิบัติเรื่องการป้องกันหรือไม่ ดำเนินการ "เตือน ปรับ จับ ปิด" ทั้งกับบุคคลและหน่วยงานรัฐและเอกชน ดังนั้น เราเห็นว่า แม้จะผ่อนปรนระยะที่ 4 แต่หากุกฝ่ายการ์ดไม่ตก ประเทศไทยก็จะสามารถผ่านวิกฤติไปได้