6 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบการนั่งบริหารประเทศ ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ครบ 1 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมรัฐสภา อันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 ใช้ห้องหอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น "รัฐสภาชั่วคราว" เพื่อประชุมร่วมกันและลงมติเป็นรายบุคคล พิจารณาว่า ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นใครคือผู้ที่มีความเหมาะสม เข้ามาทำหน้าที่ "นายกฯคนที่ 30" ของประเทศ จากนั้นที่ประชุมรัฐสภา ในวันนั้นลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ด้วยคะแนน 500 ส่วนธนาธร ได้ไป 244 คะแนน ชัยชนะที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับจากการโหวตในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ6 มิถุนายน ปีที่แล้วคือบทพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า "250 เสียง" ของสมาชิกวุฒิสภา นั้นมีความหมายมากน้อยแค่ไหน ? และดูเหมือนว่า 250 สว.เองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" อย่างหนักหน่วง ว่าทำหน้าที่เป็นเสมือน "เครื่องมือสืบทอดอำนาจ" ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สามารถนั่งในอำนาจ แปรสภาพจาก คสช.มาสู่รัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยที่ 250 ส.ว.เองไม่เคยทำหน้าที่ "ตรวจสอบ" การบริหารงานของฝ่ายบริหารแต่อย่างใด ! น่าสนใจว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า "เป้าโจมตี" ของพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะทั้ง "คณะก้าวไกล" ที่นำโดย "อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่" พุ่งเป้าเขย่าไปยัง ส.ว. อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสถานการณ์ของ ส.ว.ส่อเค้าลางว่าอาจจะบานปลาย เพราะเมื่อ พรรคฝ่ายค้าน กำลังใช้ช่องทางกฎหมาย ให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติว่า "ขัดรัฐธรรมนูญ" หรือไม่ โดย "ปิติพงศ์ เต็มเจริญ" โฆษกพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(1) (3) และ (9) หรือไม่ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 พบว่ามี ส.ว. จำนวน 90 คน เป็นอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 6 และยังทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ระบุว่า ส.ว.จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 98 (17) หรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่พ้นจากการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. " แต่ ส.ว. ทั้ง 90 คนนี้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม" ปิติพงษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกวุฒิสภา ภายใต้ "แรงเขย่า" จากพรรคฝ่ายค้านรอบนี้ กำลังจะส่งผลทำให้ "ฐานอำนาจ" ของรัฐบาลที่เคยมั่นใจว่า แข็งแกร่ง นอกเหนือไปจากการมี "กองทัพ" เอาไว้ในมือเพื่อค้ำบัลลังก์แล้ว อาจทำให้ "ฝ่ายกฎหมาย" ของรัฐบาลต้องพลิกตำราเพื่อ "แก้เกม" หาทางโยนห่วงยางลงไปช่วย "90 ส.ว." ให้รอดจากบ่วงคดีรอบนี้ ให้จงได้