สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ภาระหนี้สิน ก่อให้เกิดปัญหาความเครียดในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว หากมีความเครียดที่เข้ามากระทบกับจิตใจในช่วงนี้ แม้เพียงน้อยนิดก็อาจทำให้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง ทั้งต่อตนเอง คนในครอบครัว และผู้อื่นได้ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ที่ได้ทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยผ่านทางออนไลน์ จากการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยผ่านทางระบบออนไลน์ และการลงพื้นที่สำรวจครอบครัวเปราะบางที่น่าจะมีปัญหาได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา จากผลสำรวจออนไลน์พบว่า ความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ปานกลาง มีสัดส่วนความเครียดของครอบครัวระดับปานกลาง 54.13% และมีความเครียดของครอบครัวระดับสูงถึงสูงมาก 17.53% ส่วนผลสำรวจครอบครัวกลุ่มเปราะบางพบสัดส่วนครอบครัวที่มีความสุขน้อยหรือน้อยมาก 17.2% ดังนั้นในภาพรวมครอบครัวคนไทยยังมีความสุขในระดับมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวทั่วไปกับครอบครัวเปราะบาง พบว่าครอบครัวเปราะบางจะมีความสุขน้อยกว่า ส่วนความอบอุ่นในครอบครัวทั่วไปบางส่วนบอกว่าเท่าเดิม บางส่วนบอกว่ามากขึ้น แต่เปราะบางมีน้อยลง ห่างเหินกันมากขึ้น ประมาณ 7%เมื่อเทียบกับครอบครัวทั่วไป เป็นเพราะคนในครอบครัวมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องความเครียดทั้ง 2 กลุ่มมีความเครียดระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม ครอบครัวไทยยังมองบวก และมีความเชื่อมั่นว่าจะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งความเชื่อมั่นอาจจะเกิดจากความช่วยเหลือของรัฐและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทย สังคมไทย ขณะที่ก่อนหน้านี้ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ที่มีต่อเด็กและเยาวชน ว่า ผลการสำรวจขององค์การยูนิเซฟและสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยพบเด็กมีความกังวลและรับรู้ถึงสถานะทางการเงินของพ่อแม่ในช่วงการระบาดของโควิด19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่รับรู้ถึงความเครียดและความกังวลของพ่อแม่ในเรื่องการหารายได้ช่วงโควิด19 ระบาด โดยช่วงอายุ 20-24 ปี จะกังวลมากที่สุดถึงร้อยละ 87 รองลงมาช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 82ช่วงอายุ 11-14 ปีพบร้อยละ 69 และที่น่าสนใจคือเด็กอายุต่ำกว่าอายุ 10 ปี ยังพบว่ามีความกังวลถึงร้อยละ 76 นอกจากนี้ ยังสำรวจพบปัญหาเรื่องคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวทำร้ายเด็กมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเครียด ดังนั้น พ่อแม่ที่เกิดความเครียดควรจะต้องหาทางระบายและจัดการความเครียดให้ได้ อย่าส่งผ่านความเครียดด้วยการลงไม้ลงมือกับเด็ก เพราะยิ่งสร้างผลกระทบต่อเด็กเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังอยู่ไปอีกนาน อย่างน้อยจนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและภูมิต้านทานธรรมชาติเกิดขึ้น ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐบาล เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาทนั้น จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้ อาจเป็นปัจจัยที่กระทบกับความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตต่อของครอบครัวไทย การเฝ้าระวังสุขภาพใจหลังจากนี้จึงเป็นบททดสอบที่ยากอย่างยิ่ง การช่วยเหลือแบ่งปันจากกันและชุมชนที่เข้มแข็ง จะเป็นนักรบคนสำคัญในการต่อสู้กับสงความสุขภาพใจ