เสือตัวที่ 6 ความรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงด้วยอาวุธ ความรุนแรงทางความคิดอันสุดโต่ง หรือความรุนแรงทางวาทกรรม ที่ถูกบรรดานักคิดระดับมันสมองชั้นนำในขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ตั้งใจที่จะเติมแต่ง พยายามร้อยเรียงเรื่องราวจากอดีตครั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างเหนือชั้น เพื่อตอกลิ่มความบาดหมางระหว่างคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ โดยสอดแทรกความรุนแรงในมิติต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องยาวนาน โดยที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่เป็นภัยและอยู่ตรงข้ามกับสันติสุข อันเป็นเป้าหมายสำคัญของศาสนา ความรุนแรงที่บรรดาแกนนำนักสร้างมวลชนดำเนินการอย่างมืออาชีพ จึงได้ผลในการสร้างแนวร่วมมวลชนคนหน้าใหม่ และยังคงคนรุ่นเก่าให้เป็นมวลชนร่วมขบวนการอยู่ต่อไปอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งสามารถขยายผลจนเป็นกลุ่มคนแนวคิดสุดโต่ง และนิยมความรุนแรงเข้ากลุ่มเป็นกองกำลังติดอาวุธ เข้าร่วมทำลายล้างสันติสุขในพื้นที่ได้ทุกแบบอย่างไร้เหตุผล โดยอาศัยความเหมือนกันเชิงอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งทางกายภาพ กล่าวคือสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น การแต่งตัวตามถิ่นฐาน วิถีชีวิตที่มีกิจวัตรประจำวันเหมือนกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำถึงเข้านอน และความเชื่อทางศาสนาเดียวกันเป็นทุนเดิม ความรุนแรงบนพื้นฐานการอาศัยการบ่มเพาะให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด จนก่อเกิดเป็นความเชื่ออย่างสุดโต่งว่า ความขัดแย้งในพื้นที่เกิดจากคนนอกพื้นที่ที่ไม่มีความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ได้ถูกหล่อหลอมจนเป็นความเชื่อถึงขั้นที่ว่า ปัญหานี้ ต้องแก้ไขด้วยวิธีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบเพื่อสื่อสารให้ประชาคมโลกหันมาสนใจและยื่ยมือเข้ามาช่วยให้เกิดสันติภาพ บนเป้าหมายสุดท้ายคือการยินยอมให้คนในพื้นที่ท้องถิ่น ได้ปกครองดูแลและแก้ปัญหากันเองในที่สุด และกระบวนการสร้างวาทกรรมดังกล่าวข้างต้น นอกจากถูกขับเคลื่อนโดยแกนนำนักคิด นักสร้างมวลชน และแกนนำทางการเมืองระดับชาติและระดับนานาชาติแล้ว ยังมีกลุ่มคนในองค์กร NGO ที่แทรกปนมาในหลากหลายรูปแบบ เสริมแรงด้วยกลุ่มคนในพื้นที่ในรูปของกลุ่มคนภาคประชาสังคม (CSO) ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐ ผ่านวาทกรรมอันลุ่มลึก เพื่อให้สังคมท้องถิ่น สังคมระดับชาติ และนานาชาติเชื่อว่า ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจปัญหาอย่างท่องแท้จากรัฐ และสมควรที่คนในพื้นที่ความขัดแยงนี้ จะต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งหากสังคมในทุกระดับ ต้องการให้เกิดสันติภาพและเดินหน้าแก้ปัญหานี้ด้วยแนวทางสันติวิธีแล้ว จะต้องสนับสนุนให้กลุ่มคนในพื้นที่ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) แห่งนี้ เข้าเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา ณ เวลานี้ ความรุนแรงด้วยอาวุธอย่างไร้ขอบเขตในพื้นที่ที่ดูจะน้อยลง หากแต่ยังซ่อนความรุนแรงทางวาทกรรมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการต่อเติมความรุนแรงทางความคิดให้เกิดในมโนสำนึกของคนในพื้นที่ ผ่านสื่อโซเชียล และสื่อแบบดั้งเดิมอย่างไม่จืดจาง รวมทั้งแอบซ่อนความรุนแรงผ่านบทความ หรือข้อเขียน ตลอดจนเวทีทางวิชาการทั่วไป เพื่อเป้าหมายในการสื่อสารความรุนแรงไปยังสาธารณะอย่างต่อเนื่องและขยายไปในวงกว้างให้มากที่สุด การใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธที่ผ่านมา จึงสามารถดำรงการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่การใช้ความรุนแรงดังกล่าวมานั้น เป็นการทำลายล้างอย่างไร้ขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงประชาชน ผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น เด็ก สตรี ผู้สูงวัย และผู้นำศาสนา เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และละเมิดกับหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับศาสนาอิสลามนั้น ถือเป็นบาปใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าจะลงโทษผู้กระทำการเยี่ยงนี้ก่อนสิ่งอื่นใดในวันพิพากษา หากแต่ ณ ห้วงเวลานี้ บรรดานักคิดในขบวนการร้ายแห่งนี้ ได้ศึกษาทบทวนสถานการณ์แล้วพบว่า แม้การใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ ยังคงมีความจำเป็นในการต่อสู้กับรัฐ เพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทางสุดท้ายอยู่ก็ตาม หากแต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ความรุนแรงดังกล่าว ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ของโลก จากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในปัจจุบัน ที่ต้องปรับไปสู่การใช้ความรุนแรงทางวาทกรรม และการต่อสู้ทางความคิดอันสุดโต่งอย่างเข้มข้นผ่านสื่อสารมวลชนในทุกแบบ เพื่อคงสื่อสารไปยังสังคมภายในให้คงความมุ่งมั่นในการแบ่งแยกด้วยการสร้างความเห็นต่าง และสื่อไปยังสังคมภายนอกให้ได้ว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นได้ว่า กระบวนการต่อสู้กับรัฐ เพื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้ายในระดับใหญ่กว่า นั่นคือการปกครองกันเองอย่างอิสระของคนในพื้นที่เอง ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างเข้มข้น แม้จะเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 หรือ ผู้แทนคณะพูดคุยสันติสุข หรือเปลี่ยนผู้แทนพิเศษของรัฐ หรือเปลี่ยนผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสักกี่คนก็ตาม การต่อสู้ด้วยความรุนแรงของคนในขบวนการแห่งนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป หากแต่เมื่อใดที่รัฐ สามารถแสวงหาหนทางที่เหนือชั้นกว่า ในการก้าวข้ามความรุนแรงทุกรูปแบบนี้ให้ได้โดยเร็ว สันติสุข บนแนวทางที่รัฐเป็นฝ่ายเลือกเท่านั้น จึงจะช่วยให้เป็นสันติสุขบนความประสงค์สุดท้ายของรัฐอย่างแท้จริง