แสงไทย เค้าภูไทย สามปีประเทศไทยในยุคคสช.มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมายที่มีใช่ใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นใหม่ซ่อนรูป มีรากเหง้าจากปัญหาเดิมที่ยังไม่มีวันหมดไป โดยเฉพาะความขัดแย้ง แต่ยังไม่เท่ากับปัญหาเศรษฐกิจ โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการยึดอำนาจการปกครองของคสช.ครบรอบ 3 ปีของหลายสำนักยังไม่มีโพลใดชี้ชัดถึงความก้าวหน้าในด้านความปรองดอง ด้านลดความขัดแย้ง ขณะที่การจัดระเบียบสังคมเป็นผลงานที่ยอมรับได้ ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น ถือว่าสอบตก มองที่ตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่นั่งรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว จะเห็นผลของความแตกต่างระหว่าง การปกครอง 2 ระบอบชัดเจน ดร.สมคิด เคยเป็นมือเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือรัฐบาลทักษิณ 1 ทักษิณ 2 นโยบายเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งด้านการลงทุนภาครัฐ ด้านกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ด้านการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศ การลงทุนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำในภาคเอกชน ไปจนถึงการปลุกการลงทุนระดับรากหญ้าที่เป็นหน่วยผลิตส่วนย่อยที่สุด เช่นโครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แทบจะใช้ตำราเล่มเดียวกันกับที่ใช้ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่ทำไมยุคคสช.จึงทำไม่ขึ้น ? ดูคล้ายกับการปลุกผีประชานิยมในยุคทักษิณที่เคยประสบความสำเร็จงดงาม กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างงดงาม เคยประสบความสำเร็จในยุคนั้นมาแล้ว แต่ทำไมเดินกระปรกกระเปลี้ย ราวกับง่อยเปลี้ยเสียขาในรัฐบาลชุดนี้ ? เมื่อโดนสื่อมวลชนภามขึ้นมาบ่อยๆว่า ทำไมเศรษฐกิจบ้านเราถึงเป็นขาลงยาวนานนัก กลับมีนายทหารในคสช.ออกมาแก้ต่างว่า ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ เศรษฐกิจแวดล้อมรอบบ้านเราเป็นแบบนี้เหมือนๆกันหมด ดูตัวอย่างมาเลเซียเป็นต้น แค่พูดขาดคำ ก็มีรายงานแถลงข่าวของ Bank Negara Malaysia (BNM) ธนาคารกลางของมาเลเซียเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า เมื่อสิ้นไตรมาสแรกนี้ ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของมาเลเซีย โต 5.6% ส่วนของเรา แค่ 3% ปริ่มๆ อัตราเติบโตของจีดีพีเกินคาดของมาเลเซียนี้ เป็นผลมาจากการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเป็นสำคัญ ปัจจัยต่อการเติบโตของจีดีพีที่เป็นจุดแข็งของมาเลเซียนี้ กลับเป็นจุดอ่อนของเรา เป็นลูกโซ่กันตั้งแต่กำลังซื้อของคนไทยอ่อนเปลี้ย อันเกิดจากรายได้หดหาย รายได้หดหายเกิดจากการจ้างงานระดับรากหญ้าต่ำ ทั้งภาคเกษตรที่เป็นภาคการผลิตที่มีการจ้างงาน(ตัวเอง)สูงที่สุดในประเทศ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่การลงทุนภาคเอกชนโตช้าจนแทบจะหยุดนิ่ง มีแต่การลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่ทุ่มเทอย่างหนัก เมื่อรายได้หด การบริโภคภายในประเทศก็หดตาม พ่อค้าแม่ขายรายได้หายไปถึง 50% โดยเฉลี่ย สินค้าอุตสาหกรรมขายไม่ออก รถเก๋ง รถปิกอัพออกโปรโมชั่นกันมาขอดกำลังซื้อก้นบ่อ ดาวน์ต่ำ ผ่อนถูกระดับไม่เกิน 3,000 บาท เป็นโจทย์ที่แก้ยากภายใต้กรอบของการปกครองระบอบนี้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง คนในรัฐบาลมาจากหลายแหล่ง มีความหลากหลายทางประสบการณ์ มีพ่อค้านักธุรกิจ นายทุนพรรคระดับอัครมหาเศรษฐีที่มองเศรษฐกิจออก มีเครือข่ายโยงใยที่สามารถช่วยปลดล็อก ผ่าทางตัน ฉุดลากเครื่องยนต์และกลไกเศรษฐกิจที่ติดหล่มให้ขึ้นมาได้ ฯลฯ ต่างจากรัฐบาลนี้ ที่มองไปทางไหนก็มีแต่ทหาร ซึ่งก็ตำหนิกันไม่ได้ เพราะนักรบก็คือนักรบ จะให้มาเป็นพ่อค้าได้อย่างไร จับมานั่งขายกะปิ ปลาร้าย่อมไม่ถนัดเท่ากับแบกปืนไปรบ แม้จะมีประสบการณ์คอรัปชั่นในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ทุกครั้งที่มีการทำโพลและมีคำถามที่เกี่ยวกับการคอรัปชั่นของนักการเมือง ประชาชนที่ตอบคำถามกว่า 60% โดยเฉลี่ยตอบว่า “รับได้กับการคอรัปชั่นของนักการเมือง หากการคอรัปชั่นนั้นพวกตน (ประชาชน) ได้รับประโยชน์ด้วย” จึงเมื่อมีการหยิบยกประเด็นคอรัปชั่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมาเป็นประเด็นตัวอย่าง ภาคประชาชนมักจะมีความคิดแย้งว่า “ถ้าไม่มีการคอรัปชั่น ป่านนี้จะยังได้สร้างสนามบินสุวรรณภูมิกันหรือ?” เป็นทัศนคติที่อันตรายมาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมแลก หรือประเด็นเรือดำน้ำกับจำนำข้าว นักวิชาการก็มองตามทฤษฎี Bread and Guns หรือ Guns or Bread หรือนโยบายเนยแลกปืน Guns and Butter เทียบกับข้าวแลกอาวุธเป็นต้น การใช้สินค้าเกษตรที่ต้องใช้ปัจจัยผลิตมากมาย แต่ได้ผลผลิตราคาถูกแลกกับอาวุธนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ขึ้นอยู่กับภาวะและสถานการณ์ในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ที่สำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของประชาชน ยุคหนึ่งประชาชนมีความรู้สึกหวั่นเกรงภัยสงคราม หวั่นแกรงการรุกล้ำฉกชิงผลประโยชน์ชาติ การเอาข้าวแลกอาวุธ ย่อมถือเป็นความชอบธรรม แต่ในยามสถานการณ์ปกติ ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นความสำคัญ ณ จุดนี้ วันนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำงานกับ คสช.ย่อมจะต่างจากวันที่ทำงานกับทักษิณ ชินวัตร วันนั้นใส่แว่นตากรอบสีดำธรรมดาๆ วันนี้ใส่แว่นตากรอบสีเขียวขี้ม้า