สถาพร ศรีสัจจัง เหตุที่ราชสกุลแห่งราชวงศ์จักรีมีเชื้อสายจีน “แซ่ตัน” หรือ “แซ่เฉิน” มาผนวกร่วมกับความเป็นมอญ (มีเชื้อสายมอญมายาวนานมาก จะกล่าวละเอียดภายหลัง) ก็โดยการที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระชายาพระองค์แรกกับพระธิดาคนที่ 4 ของ “เจ้าฟ้าแก้ว” (สมเด็จพระพี่นางพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 1 ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์”) คือเจ้าฟ้าหญิง “บุญรอด” และพระภัสดาของสมเด็จฯกรมพระศรีสุดารักษ์พระพี่นางนั้นเป็นชาวจีนเชื้อเจ้าจากเมืองปักกิ่ง(จีนแท้)ชื่อ “เจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน(เฉิน)” และเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดนี้เองที่ทรงเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์แห่งกรุงสยามพร้อมกันถึง 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(เจ้าฟ้ามงกุฎ) และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว(เจ้าฟ้าจุฑามณี) ภายหลังพระราชบุตรของพระนาง คือ ล้นเกล้าฯรัชการที่ 4 ทรงสถาปนาพระราชมารดาคือเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดขึ้นเป็น “สมเด็จพระศรีสุเรนทราบรมราชินี” อย่างที่ทราบๆกัน ดังได้กล่าวมาว่า องค์พระปฐมบรมมหาราชวงศ์จักรีนั้นมีฐานรากจากความเป็นคน “มอญ” มาก่อน หลักฐานจากพงศาวดารและอื่นๆบอกเราว่า ต้นราชวงศ์ที่ “ปราบดาภิเษก” ขึ้นเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี คือมหาบุรุษนาม “ทองด้วง” อดีตหลวงยกกระบัตรยุคก่อนอโยธยาศรีรามเทพนครจะแตกพ่ายแก่ “พม่าข้าศึก” นั้น เป็นคนเชื้อสายมอญโดยตรง หลักฐานที่อ่านง่ายสุด และ สนุกสุดก็คือหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือดังกล่าว คุณชายคึกฤทธิ์ กล่าวว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวว่าตระกูลของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายฝ่ายมอญซึ่งเคยตามเสด็จมากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินอยุธยา และ รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมาหลายชั่วอายุคน ตอนหนึ่งกล่าวว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้พระราชทานพระธิดาพระองค์หนึ่งให้แก่พระยาเกียรติ ขุนนางมอญเชื้อเจ้า เป็นราชธิดาซึ่งเกิดจากเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชา ภายหลังมีผู้ขนานนามท่าน ว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” ซึ่งต่อมาได้เป็น “พระนม” ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และท่านก็คือมารดาแท้ๆของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) และ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้เป็นขุนทหาร และราชทูตคู่พระบารมีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง เจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “ขุนทอง” รับราชการได้เป็นที่ “พระยาวรวงศาธิราช” มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “ทองคำ” ได้เป็นที่ “พระราชนิกูล” มีบุตรชายชื่อ “ทองดี” ได้เป็นที่พระอักษรสุนทร เสมียนตราในกรมมหาดไทย “ทองดี” มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “ทองด้วง” รับราชการได้เป็นที่ “หลวงยกกระบัตร” แต่งงานกับ “บุญนาค” ธิดาเศรษฐีชาวมอญแห่งบ้านบางช้าง แขวงอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม... ด้วยความดีความชอบอย่างมากมายในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี “ทองด้วง” บุตร “ทองดี” แห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี ก็ได้รับการอวยยศสูงสุดเป็นที่ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัติย์ศึก” เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ได้รับการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมบรมกษัติย์แห่งราชวงศ์จักรี ส่วนพระราชบิดาคือ “ทองดี” ภายหลังก็ได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก”แห่งราชวงศ์จักรีด้วย เกี่ยวกับเรื่องชนชาติไทยเชื้อสายมอญนั้น ฟังว่า มีความผูกพันกับราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์มาอย่างเหนียวแน่น มีหลายตระกูลที่เป็นมอญผู้ดีเก่า รับราชการรุ่งเรืองต่อเนื่องกันมา เช่น ตระกูล “คชเสนี” ที่มี “พระยาเจ่ง” หรือเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (เจ่ง คชเสรี) เป็นต้นตระกูล รับราชการเป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดงปัจจุบัน) ต่อเนื่องกันมาถึง 9 คน “พญาเจ่ง” นี้เป็นคนมอญแท้ เกิดที่เมืองมอญ เป็นโอรสของเจ้าเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระยาทะละ กษัตริย์องค์สุดท้าย แห่งราชอาณาจักรมอญ (ประมาณ พ.ศ.2290 - 2300) เป็นหัวหน้ากบฏต่อสู้กับพม่าแต่ไม่สำเร็จจึงอพยพพร้อมพลพรรคเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยามยุค พระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมกับหัวหน้ามอญอื่นๆอีก 3 คน คือพญาอู่/ตละเกลี้ยง และ ตละเกล็บ พญาเจ่งมีบุตรที่สำคัญคือเจ้าพระยามหาโยธา(“ทอเรียะ” หรือทองชื่น คชเสนี) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์คนต่อมา กับ เจ้าจอมมารดากลิ่นหรือ “ซ่อนกลิ่น” (ศิษย์รักของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์) ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 พระราชมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล “กฤดากร” เกี่ยวกับเจ้าพระยามหาโยธา(ทอเรียะ)นี้ มีเกร็ดเชิงขำขันเล่ากันต่อมาว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 ตรัสกับเจ้าพระยาทอเรียะชาวมอญว่า “คำที่เขาพูดกันว่า ‘ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จัญไรอยู่กับมอญ’ นั้นจริงหรืออย่างไร?” เจ้าพระยามหาโยธาตอบว่า “คำที่ว่านั้นไม่ถูกพ่ะย่ะค่ะ คำที่ถูกนั้นคือ ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จัญไรอยู่กับพม่า.. ปัญญาอยู่กับมอญ..พ่ะย่ะค่ะ”!!! ที่เล่ามาทั้งหมดพอจะทำให้เห็นชัดขึ้นใช่ไหมว่า จีนและมอญมีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ลึกซึ้งเพียงใด นี่เป็นคำตอบที่สำคัญหนึ่งว่า “สยาม” ในอดีตหรือ “รัฐชาติไทย” ในปัจจุบันนั้นมีลักษณะ “พหุวัฒนธรรม” อย่างกว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ทั้งในระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง..จริงๆใช่ไหม?!!!!