สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ พระราชกำหนด 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2.พระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท 3.พระราชกำหนดดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาทแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เหตุผลความจำเป็นฉุกเฉินรีบด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว ทั้งนี้ในการอภิปรายของฝ่ายค้านที่ผ่านมา มีความห่วงในการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใส พร้อมยื่นญัตติคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อมาตรวจสอบการใช้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ได้เสนอมาตรการตรวจสอบการใช้งบประมาณตามพระราชกำหนดดังกล่าวมายังรัฐบาล ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาพระราชกำหนด อีกทั้งก่อนหน้านี้ ป.ป.ท. ได้เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. ทั่วประเทศ โดยผลการตรวจสอบ 52 อปท. ใน 30 จังหวัด มีพฤติกรรมผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างจำนวน 19 แห่ง ในจำนวนนี้ 5 แห่งได้ยกเลิกการจัดซื้อไปแล้ว โดยพบพฤติกรรมผิดปกติ 16 รูปแบบ 1. ราคาจัดซื้อสูงเกินจริงเมื่อเทียบกับราคาหรือคุณสมบัติของพัสดุในสถานการณ์ขณะนั้น 2. ไม่ปรากฏหลักฐานการสืบราคา 3. ร้านคู่เทียบยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เสนอราคาตามเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง4. นำพัสดุชิ้นใหม่มาสับเปลี่ยนกับที่ได้ตรวจรับไปแล้ว 5. ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่ผ่านการต่อรองแล้วและไปจัดซื้อใหม่ในราคาที่สูงกว่าเดิม 6. ผู้รับจ้างและคู่เทียบไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างโดยตรง 7. จัดซื้อกับผู้ประกอบการต่างท้องที่ ทั้ง ๆ ที่ราคาสูงกว่าผู้ประกอบการในท้องที่ 8. จัดซื้อเกินวงเงินที่มีอำนาจอนุมัติ 9. จัดซื้อในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น 10. มีชื่อร้านคู่เทียบเพื่อสืบราคา แต่ไม่มีราคาในการนำเสนอ 11. คู่สัญญาและร้านคู่เทียบ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน 12. เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้จัดหาสินค้าเอง โดยจ่ายเงินให้กับบริษัท/ร้านค้า เพื่อขอนำชื่อบริษัท/ร้านค้านั้นมาเป็นคู่สัญญาแทนตน 13. คณะกรรมการตรวจรับ ไม่ได้ทำการตรวจรับจริง แต่มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารการตรวจรับมาให้ลงลายมือชื่อ 14. มีการซื้อขายกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดหาสินค้า ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าประเภทที่มีการจัดซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการสืบราคา 15. ผู้บริหารท้องถิ่น มีการจ่ายเงินค่าซื้อพัสดุอุปกรณ์ป้องกันโควิด โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีตนเอง 16. อปท. จำนวน 5 แห่ง ทำการยกเลิกการจัดซื้อเมื่อถูกหน่วยงานของรัฐตรวจสอบ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายด้านการใช้งบประมาณทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้น ทุกส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด โดยมอบหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องสอดส่องดูแล หากพบว่าสิ่งใดจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องเรียกดู ตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการร้องเรียนต้องเร่งลงไปกำกับดูแล และเชิญชวนประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ร้องเรียน และแจ้งเบาะแสมายังศูนย์ดำรงธรรม และลงไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และถ้าทุกคนทำได้โอกาสทองในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผู้มีอำนาจในรัฐบาล มีเจตนาในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชน และชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ ด้วยการเป็นหูเป็นตา เพื่อที่ประโยชน์จากงบประมาณดังกล่าวจะไปถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย