แก้วกานต์ กองโชค การเข้าไปแก้ปัญหามหาวิทยาลย 4 แห่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา อันได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัยภูมิ ยังไม่มีท่าว่า จะยุติลงง่ายๆ “มีการรายงานเรื่องการตรวจสอบหลักสูต มหาวิทยาลัยบูรพา และเมื่อพบว่ามีหลักสูตรใดไม่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานก็ต้องหยุดรับนักศึกษา พร้อมทั้งต้องดูแลนักศึกษาที่อยู่ในระบบควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงตามมาตรฐาน” คำอธิบายของ “ขจร จิตสุขุมมงคล” รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนการบริหารงานภายในของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ โดย นายจรูญ ถาวรจักร์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มรภ.สุรินทร์ ขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของ มรภ.อุดรธานี รวมถึงนายเชิดชัย โชครัตนชัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภา มรภ.ชัยภูมิ ก็ขอลาออกเช่นกัน เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งกกอ.จะต้องเสนอผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามแต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. และคาดว่าในการประชุมครั้งหน้าจะได้รายชื่อผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทน ด้านการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยบูรพานั้น นายสมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มบ. ได้แจ้งว่า ศาลปกครองสูงสุดที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ อบ.49-50/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.16-19/2560 และคดีหมายเลขดำที่ อบ.49/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.16/2560 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเกิดปัญหาการขัดแย้งกันภายในจนทำให้กระบวนการสรรหาต้องหยุด และทำให้มีการฟ้องร้อง ทำให้ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จะมีประชุมคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภา มบ. เพื่อหารือถึงแนวทางและวิธีการดำเนินการสรรหาอธิการบดี มบ.คนใหม่ ตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป ขณะเดียวกันปัญหาระหว่าง “สภามหาวิทยาลัย” โดยเฉพาะนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ในมหาวิทยาลัยอื่นก็เกิดตามมาหลายแห่ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)เทพสตรี นายศุภมาศ พนิชศักดิ์พัฒนา นายกสภามหาวิทยาลัยได้ลาออกจากตำแหน่งนายกสภาฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 60 ทั้งที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 โดยคาดการณ์ว่า น่าจะเกิดจากความขัดแย้งกับรักษาการอธิการบดีมรภ.เทพสตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)พระนคร ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภาฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 มีการพิจารณาลงคะแนนเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมรภ.พระนคร จากแคนดิเดต 2 คน คือนายเดช บุญประจักษ์ รักษาการอธิการบดีมรภ.พระนคร และนายสมบัติ ทีฆทรัพย์ ข้าราชการบำนาญ ซึ่งถือเป็นการสรรหาอธิการบดีมรภ.พระนครครั้งที่ 2 หลังจากการโหวตครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 แล้วแคนดิเดตทั้ง 2 คน คือ นายพงศ์ หรดาร อดีตอธิการบดีมรภ.พระนครและนายวิชัย แหวนเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับคะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการสภาฯ ซึ่งตามข้อบังคับมรภ.พระนครว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ข้อ 3 กำหนดให้ต้องมีการเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ถ้าหากการลงคะแนนโหวต 2 ครั้งแล้วคะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการสภาฯ ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จนทำให้นายมีชัย ประกาศลาออกกลางที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มรภ.พระนคร ที่ มรภ.เชียงราย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายกสภามรภ.เชียงราย ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกสภามรภ.เชียงรายกลางที่ประชุม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ไม่นำรายชื่อนายสมบัติ เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะขาดคุณสมบัติตามคำวินิจฉัย คำสั่งที่ 39/2559 ตามมาตรา 44 ที่ระบุว่าห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีและนายกสภาฯ ในคราวเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้นายสมบัติได้ลาออกจากตำแหน่งนายกสภามรภ.นครศรีธรรมแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 และคาดว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกสภานครสวรรค์ ในการประชุมสภาฯ วันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ในขณะที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลาออกถึง 4 คน ทำให้สภามหาวิทยาลัยต้องหยุดทำหน้าที่ไปโดยปริยาย เพราะองค์ประชุมไม่ครบตมกฎหมาย ดูเหมือนว่า ปัญหาอำนาจในมหาวิทยาลัยกำลังเดินไปสู่ทางตันจริงๆ !!!