เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การชุมนุมเคลื่อนไหวในฮ่องกงก็กลับมาอีกครั้ง หลังจากหยุดพักไปประมาณ 3 เดือน จากที่เคยชุมนุมอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งปีในปี 2562 ที่ผ่านมาโดยมีประเด็นเรื่องของกฎหมายความมั่นคงใหม่สำหรับฮ่องกงเป็นชนวนในการเคลื่อนไหว โดยล่าสุดสภาประชาชนจีน ได้เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวแล้ว ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้ผู้ใดกระทำการบั่นทอนอำนาจรัฐบาลปักกิ่งในดินแดนฮ่องกง ถือเป็นการก่ออาชญากรรม อีกทั้งยังให้อำนาจรัฐบาลกลางเข้าไปตั้งหน่วยงานความมั่นคงในฮ่องกงได้เป็นครั้งแรก เนื้อหาของกฎหมายระบุให้การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นความผิดอาญา ได้แก่ แบ่งแยกฮ่องกงออกจากจีน ล้มล้างรัฐบาลปักกิ่ง และก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง หรือกองกำลังภายนอกคุกคามกิจกรรมประชาชน อันถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง ซึ่งหลังจากร่างกฎหมายนี้จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการถาวรพรรคคอมมิวนิสต์ และจะบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในเดือนสิงหาคมนี้ แน่นอนว่า กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ฮ่องกง และฉากปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐถูกนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเหมือนเสียงระฆังในเวทีมวยให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พักจากสถานการณ์การเคลื่อนไหวรวมตัวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือ แฟลชม็อบ ก่อนหน้านี้ที่กำลังจะบานปลายขยายออกไป จึงมีการคาดการณ์กันว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มซาลง จะมีการรวมตัวชุมนุมกันอีกครั้ง อีกทั้ง นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียว่า จะมีการรวมตัวกันโดยไม่นัดหมาย และไม่มีแกนนำ ในขณะที่มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน “การคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและคงเคอร์ฟิวเอาไว้นั้น เพื่ออะไรกันแน่? มีไว้เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกภายในของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลายพรรคหลายกลุ่ม จนต้องรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวจนเป็นเปรียบเสมือนการ “รัฐประหารโควิด-19” เอารูปแบบการบริหารงานรัฐบาลแบบ คสช. กลับมาใช้อย่างนั้นหรือ? หรือมีไว้เพื่อป้องกันนักศึกษาและประชาชนที่จะออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ขาดทั้งความชอบธรรมและขาดทั้งประสิทธิภาพหรือไม่”นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ระบุ เราเห็นว่า ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวด้วยเป้าหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องให้ความสำคัญในการรับมือ เพื่อบรรเทาปัญหาทางการเมืองแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือการคลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะตัวเลขจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่คาดการณ์ว่า แรงงานมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน และ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะชัดเจนมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี รวมตลอดทั้งปี จะมีผู้ว่างงาน ราว 2 ล้านคน และที่น่าห่วงคือการออกนอกระบบการศึกษา ของกลุ่มเยาวชน 15-24 ปี ไม่ได้เรียนต่อและไม่มีงานทำจะเพิ่มสูงขึ้นถึง1.2 ล้านคน สภาพัฒน์ฝากความหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข และการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1ล้านล้านบาท จะช่วยสร้างงานให้คนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ แม้เราจะเข้าใจดีว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ไม่เคยมีบทเรียนมาก่อน แม้แต่วิกฤติต้มยำกุ้งก็ไม่รุนแรงเท่านี้ จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ทั้งการช่วยเหลือ เยียวยาและต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ให้ซ้ำเติมหรือจุดไฟขึ้นมาใหม่ เพราะความอดอยากหิวโหยนั้น อาจนำไปสู่จราจลที่ร้ายแรงกว่าที่เราเคยเห็นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็เป็นได้