เสือตัวที่ 6 การขับเคลื่อนวาทกรรมสร้างแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและศาสนาหัวรุนแรงนั้น ฝ่ายนักคิดและนักสร้างแนวร่วมมวลชนของขบวนการ ได้นำเอาหลักศาสนามาตีความทางประวัติศาสตร์เฉพาะส่วนประเด็นของการขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อต้องการแสวงหาเหตุผลเชิงตรรกะอย่างลุ่มลึก อธิบายอย่างแยบยลต่อคนในพื้นที่ท้องถิ่นให้หลงเชื่อและคล้อยตามได้ง่าย บนความแตกต่างทางกายภาพของคนเฉพาะถิ่นที่ฝ่ายขบวนการได้เรียกร้องและขับเคลื่อนอย่างทรงพลังจนได้รับการยินยอมจากรัฐเรื่อยมาเป็นเวลานานโดยพยายามเจาะประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ มาตุภูมิปัตตานีในอดีตดำรงสถานะเป็นรัฐอิสลามจนก่อให้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ที่ผสมกันทั้งชาตินิยมสุดโต่ง และความเข้าใจเพียงบางส่วนในหลักศาสนาเรื่องดารุลฮัรบี และใช้โอกาสนี้ชี้นำสู่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานี้เป็นการต่อสู้เพื่ออิสลาม (Jihad) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งและความเข้าใจเพียงบางส่วนในหลักศาสนาเรื่องดารุลฮัรบี ถือเป็นธงนำทางความคิดร่วมกันเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มคนในขบวนการแห่งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้นำเสนอในขั้นแรกไปแล้วในครั้งก่อน สำหรับการดำเนินการในขั้นที่ 2 นี้ ก็คือ การจัดตั้งสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ขับเคลื่อนต่อจากขั้นตอนที่ 1 เพื่อคัดเลือกชักชวนและจัดตั้งเยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้นำที่มีได้รับความน่าเชื่อถือในชุมชนพื้นที่เข้า เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการ ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวนั้น ล้วนได้รับการหล่อหลอมกล่อมเกลาจนมีความคิดและความเชื่อ ถึงขั้นมีความเป็นชาตินิยมมลายูปัตตานีแบบสุดโต่ง และความเข้าใจในหลักศาสนาเรื่อง “ดารุลฮัรบี” ภายใต้กรอบอิทธิพลของอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นอย่างสุดโต่ง โดยมีการกำหนดแบ่งสมาชิกแนวร่วมขบวนการแห่งนี้ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มการเมือง โดยมีหน้าที่ขยายสมาชิกมวลชนในหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อขยายฐานแนวร่วมมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อคอยให้การสนับสนุนการต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบ โดนเฉพาะการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงของขบวนการ สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้กองกำลังติดอาวุธ เพื่อก่อเหตุรุนแรง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการ ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 3 ของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการต่อตู้กับรัฐ อันเป็นขั้นตอนการขับเคลื่อนสมาชิกกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง ไปสร้างสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เป้าหมายของการก่อความรุนแรงสร้างความเสียหายต่อระบบอำนาจรัฐ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐ และมุ่งประสงค์ในการสื่อสารไปยังประชาคมโลก ให้เห็นถึงความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขในการกำหนดใจตนเอง (RSD) ว่าคนในพื้นที่ต้องการจะอยู่กับรัฐหรือไม่ อันจะนำไปสู่สู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองการปกครองในพื้นที่ให้ตกมาอยู่ในมือของกลุ่มขบวนการร้ายแห่งนี้ โดยอาศัยตัวช่วยอื่นๆ จากต่างประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานี จึงเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุร้ายต่างๆ ในพื้นที่ และเป็นหลักสำคัญในการหลอมรวมความพยายามของกลุ่มคนในขบวนการ ผ่านความคิดความเชื่อที่ยึดโยงคนในพื้นที่เข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น การต่อสู้เพื่อศาสนา เป็นการทำสงครามญิฮาด (Jihad) ในทางศาสนาดังกล่าวนี้ จึงถือเป็นวาทกรรมที่นำสู่แนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งที่ยากจะลบล้างหรือเปลี่ยนความเชื่อนี้ได้โดยง่าย ส่งผลให้เกิดการก่อเหตุสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การบ่มเพาะแนวคิดจนเป็นความเชื่อแบบสุดโต่งที่ต้องทำลายล้างฝ่ายเห็นต่างของฝ่ายขบวนการแห่งนี้นั้น มุ่งกระทำผ่านกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะ โดยสร้างเป็นวาทกรรม หล่อหลอมจนเป็นความเชื่อและจนถึงขั้นเป็นความศรัทธาให้บังเกิดกับคนมลายูในพื้นที่ จชต. ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่บนความเชื่อเรื่องดารุลฮัรบีได้กลายเป็นสิ่งเร้า เร่งให้เกิดแนวคิดการให้ความสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของกลุ่ม ขบวนการร้ายแห่งนี้อย่างเหนือชั้นจวบจนปัจจุบัน กระบวนการในขั้นแรกนี้ เป็นกระบวนการเริ่มแรกของปัญหาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มคนที่หลงเชื่อในพื้นที่ จชต. ซึ่งแกนนำของกลุ่มขบวนการ จึงต้องดำรงการขับเคลื่อนการต่อสู้ด้วยอาวุธให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐ ผ่านการสร้างแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและศาสนาหัวรุนแรงดังกล่าวนั้น จึงเป็นหัวใจสำคัญในวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการของคนระดับมันสมอง ด้วยการสร้างวาทกรรมอันลุ่มลึก จากอดีตถึงปัจจุบันและสู่อนาคต ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ตลอดจนในชุมชน หลอมรวมพลังคนและพลังความคิดให้เกิดเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างมีพลัง หากแต่จังหวะก้าวของแต่ละห้วงเวลา อาจมีการเปลี่ยนแปลง ถ่ายเทน้ำหนักในการต่อสู้กับรัฐไปตามสถานการณ์ แต่ก็ยังคงดำรงความต่อเนื่องไปสู่ในเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ คืออิสระในการปกครองกันเอง ตามที่พวกเขาต้องการ