ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลกซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี น่าจะเป็นโอกาสดีที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ในการทบทวนความสำเร็จและความล้มเหลวของการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ในประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานที่เป็นประโยชน์กับคนไทยกว่า 10.7 ล้านคนที่เป็นผู้สูบบุหรี่และยาเส้นมวนเองอย่างละเกือบ 5 ล้านคน รวมทั้งผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ต้องได้รับควันบุหรี่มือสองอีกนับ 10 ล้านคนด้วย ขณะที่ประเทศไทยได้รับความชื่นชมว่ามีความเข้มแข็งในการควบคุมยาสูบในระดับโลก มีหน่วยงานรัฐ เช่นกรมควบคุมโรคเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหากำไร ในการรณรงค์ ทั้งด้านการลดอุปสงค์และอุปทาน และยังมีสสส.เป็นแหล่งงบประมาณ และทรัพยากรกว่า 4 ,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการรณรงค์มาตลอดหลายสิบปี แต่ความจริงปรากฏว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปลดลงไม่มากนัก แม้จะลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 23 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 19.1 จากผลการสำรวจครั้งสุดท้ายในปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเรายังมีผู้สูบบุหรี่ถึง 10.7 ล้านคน โดยมีจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 25 ถึง 7 จังหวัดซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ภาคใต้ตอนล่างถึง 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นครศรีธรรมราช สตูล ระนอง สงขลา เกินครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่เป็นประจำเป็นผู้เรียนจบไม่เกินระดับประถมศึกษาและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง และภาคใต้มีผู้สูบหนักกว่าภาคอื่นทั้งหมด แต่เรากลับไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่เน้นจัดการปัญหาพื้นที่ภาคใต้และในกลุ่มอาชีพเหล่านี้ ส่วนงบประมาณของสสส. ในปีงบประมาณ 61 เบิกจ่ายเกือบ 4 พันล้านบาท แต่ใช้ไปกับเรื่องบุหรี่เพียง 273 ล้านคิดเป็น 7 % เท่านั้น ที่น่าสังเกตคือผู้สูบร้อยละ 43 หรือ เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่เคยคิดหรือไม่อยากเลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 36.7 เคยคิดแต่ก็ไม่พยายามเลิก ภาคใต้ยังคงเป็นที่หนึ่งที่มีผู้ไม่เคย / ไม่อยากเลิกสูบ มีเพียง 1 ใน 5 ที่เคยพยายามเลิกสูบ แต่เรายังไม่เห็นมาตรการที่จะช่วยลดอันตรายให้กับคนที่ไม่เคยคิดหรือไม่อยากเลิกสูบบุหรี่เลย กระทรวงสาธารณสุขจึงควรทบทวนนโยบายควบคุมการสูบบุหรี่เสียใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย การศึกษาน้อย โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ และทบทวนมาตรการสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ไม่เคยคิดหรือไม่อยากเลิกสูบบุหรี่ซึ่งมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูบทั้งหมดว่า หากเขาเหล่านี้ไม่คิดไม่อยากเลิกสูบบุหรี่แล้ว รัฐควรจะมีมาตรการหรือนโยบายอย่างรัฐ เพื่อลดอันตรายจากควันบุหรี่จากการสูบบุหรี่ให้กับคนเหล่านี้หรือจะปล่อยให้เขาเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะการเจ็บป่วยจากโรคที่มาจากการสูบบุหรี่ การเปิดในกว้างยอมรับหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ และยอมรับความจริงโดยปราศจากอคติอาจจะเป็นทางออกที่ช่วยชีวิตคนไทยกว่า 10.7 ล้านคนในวันนี้ได้ อยู่ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและฝ่ายการเมืองจะกล้าหาญพอที่จะนำแนวคิดใหม่ๆมาใช้เพื่อลดอัตราการสูบหรี่ของคนไทยลงให้ได้ เพราะหากยังทำแบบเดิมๆ 31 พฤษภาคมปีหน้าก็ยังจะมีคนไทยสูบหรี่ไม่น้อยกว่าเดิม แล้วเราจะประสบความสำเร็จในการลดอัตราการสูบบุหรี่ได้อย่างไร