ถือเป็นคดีสะเทือนใจของคนในสังคม กรณีหญิงสาวก่อเหตุหลอกลวงประชาชนให้สั่งซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าต้องนำไปรักษาบุตรวุย 3 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคประหลาดก่อนเสียชีวิตไปเมื่อปลายปี 2562 ต่อมาอ้างว่าบุตรอีกรายอายุ 3 ขวบเช่นกันได้ป่วยแบบเดียวกัน แต่เมื่อแพทย์ตรวจสอบแล้วกลับพบว่าอาการของเด็กมีพิรุธ เด็กอาจถูกสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทำลายร่างกาย ขณะที่หญิงสาวผู้เป็นแม่ ได้รับเงินช่วยเหลือร่วม 20 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามแถลงจับกุมผู้เป็นแม่ในข้อหา รับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ฉ้อโกงประชาชน นี่เป็นอีกคดีตัวอย่างที่อาศัยความใจบุญ ชอบช่วยเหลือของผู้คนเป็นช่องทางในการทำมาหากินของมิจฉาชีพ แต่ที่โหดร้าย คือการที่เด็กต้องสังเวยชีวิตให้กับความโลภนี้ไปแล้ว 1 ราย ส่วนอีกรายเกือบเอาชีวิตไม่รอด “อยากเชิญชวนค่ะ ให้เราหยุด บริจาค ผ่านบัญชีส่วนตัวของใครก็แล้วแต่ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เราต้องหยุด หยุดโดยมีชีวิตคนอื่นกั้น เพราะเราคงไม่อยากร้องกรี๊ดกับเหตุการณ์แบบนี้อีกใช่มั้ยคะ เราต้องนึกถึงอันตรายที่จะมีต่อเด็ก ต่อคนแก่ หรือคนอื่นๆ ที่อาจตกอยู่ในอันตราย ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถูกจองจำในสภาวะยากลำบากเพื่อให้เราได้มีโอกาส ทำบุญผ่านมนุษย์ผู้ตกยาก (รวมถึงการสนับสนุนสถานสงเคราะห์ที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้ก็กรณีเดียวกันค่ะ)ในกรณีนี้และหลายกรณีเช่นในสถานสงเคราะห์เองเด็กจะถูกทารุณกรรมช้าๆ ซ้ำๆ ให้มีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ หรือดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่แย่ น่าสงสารเพื่อเรียกร้องความสงสารจากผู้ใจดีให้โอนเงินมาให้ น้องอมยิ้มเองก็ถูกปฏิบัติเช่นนั้น แม่ทั้งถ่ายวีดีโอตอนน้องอ้วกเป็นเลือดมาให้ทุกท่านดู update ความย่ำแย่ของลูกให้ได้รับชม คนดูพอดูแล้วมืออ่อนเลยค่ะ โอนทันที” ความตอนหนึ่งจาก เพจ นักสังคมสังเคราะห์เล่าเรื่อง ในต่างประเทศ เคยเกิดโศกนาฏกรรม ที่บุตรสาวร่วมกับแฟนหนุ่มฆ่าแม่ของตนเอง ที่กลายเป็นข่าวช็อกเมื่อสังคมเชื่อมาตลอดว่า บุตรสาวนั้นป่วยสารพัดโรค ต้องโกนหัวและนั่งวีลแชร์มาตลอดหลายปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เธอถูกแม่ทำให้เชื่อว่าตนเองป่วยหนัก ซึ่งเรื่องราวของเธอกับแม่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจนมีชื่อเสียงและได้รับเงินบริจาคจำนวนมหาศาล กระทั่งเธอโตขึ้นและรู้ตัวว่าไม่ได้ป่วยอะไร จึงพยายามหลฃบหนีจากผู้เป็นแม่แต่ล้มเหลว ที่สุดจึงก่อเหตุฆาตกรรมดังกล่าว หน้าที่ของพ่อแม่ นอกจากเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนแล้ว คุ้มครองให้ปลอดภัยแล้ว จะบงการลูกทุกเรื่องไม่ได้ แต่เมื่อผู้เป็นพ่อเป็นแม่กลับกระทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตลูกเสียเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พฤติกรรมเช่นนี้จึงไม่น่าให้อภัย “บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ เธออาจให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้ เพราะว่าเขาก็มีความคิดของตนเอง เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา เพราะว่าวิญญาณของเขานั้นอยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้แม้ในความฝัน เธออาจพยายามเป็นเหมือนเขาได้ แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง หรือห่วงใยอยู่กับเมื่อวันวาน” (จาก "ปรัชญาชีวิต" คาลิล ยิบราน แปลโดย ระวี ภาวิไล )