ไม่เกินความคาดหมายนัก สำหรับการตัดสินใจต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค.63 ออกไปอีก 1 เดือน ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
แม้จะมีเสียงจากภาคเอกชน มองว่าหากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาได้ช้า รวมทั้งเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะคณะก้าวหน้าโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาบอกว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีไว้เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกภายในของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลรวมถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชากับคณะรัฐมนตรี ที่มาจากหลายพรรคหลายกลุ่มจนต้องรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวจนเปรียบเสมือนการ “รัฐประหารโควิด-19” เอารูปแบบการบริหารงานรัฐบาลแบบคสช.กลับมาใช้อย่างนั้นหรือ หรือมีไว้เพื่อป้องกันนักศึกษาและประชาชนที่จะออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ขาดทั้งความชอบธรรมและขาดทั้งประสิทธิภาพหรือไม่
กระนั้น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ ให้เหตุผลที่ต้องขยายเวลาประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกไป เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมดูแลเมื่อจะมีการผ่อนคลายระยะที่ 3 และ 4 ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งการผ่อนคลายในระยะต่างๆ จะมีความเสี่ยงเป็นระยะ จึงต้องมีเครื่องมือควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง เพราะจะเกิดความเสียหายหนักไปกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือกลไก ใช้กำกับการผ่อนคลายให้มีประสิทธิภาพ
“ตั้งแต่วันแรกที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องการเมืองเลย จนถึงวินาทีนี้ในฐานะที่ตนร่วมแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นกล้ารับประกันว่า เราไม่ได้เอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังคงใช้เพื่อป้องกันการแพร่ะระบาดของโควิด ไม่มีนัยยะทางการเมือง อาจจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว ของคนบางกลุ่ม แต่ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดผลทางด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ”
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเห็นว่า ต้องคำนึงถึงมาตรฐานในด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและน้อยลงจนเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้แม้จะเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
ขณะที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวยอมรับว่า เมื่อมีมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ไม่มีคนมารวมตัวดื่ม สังสรรค์ หรือชุมนุมมั่วสุม ตัวเลขลดน้อยลง หรือไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งสถิติที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี มีโอกาสที่ ศบค. จะลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลง แต่รายละเอียดต้องรอการประชุม ศบค. ในครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แสดงความเห็นว่า การที่พบผู้ติดเชื้อในหลักต่ำสิบหรือแม้แต่ไม่พบรายใหม่เลย สถานการณ์ก็ยังวางใจไม่ได้ การที่เราเจอคนไข้ในระบบรายงานหนึ่งคน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทั้งประเทศเรามีคนไข้โควิด-19 แค่รายเดียว หรือแม้แต่หากไปถึงวันที่เรารายงานว่าคนไข้เหลือศูนย์คน ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนไข้เหลืออยู่แล้วในประเทศไทย เหตุผลก็คือโรคนี้คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นไข้หวัดก็อาจจะไม่ได้ไปพบแพทย์ คิดว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ หากจะถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำจัดโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศไทย ตามทฤษฎีก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ พูดง่ายๆ คือต้องพยายามตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้ ใครที่ไม่สบายก็อย่าไปแพร่โรคให้คนอื่น ต้องบอกกับคนไทยว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมานั่งฉลองชัยหรือประกาศชัยชนะ ตอนนี้ยังเป็นเวลาที่เรายังต้องระมัดระวังกันต่อไป
ดังนั้น ดูเหมือนว่า “ยาแรง” พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นอกจากจะใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมีผลข้างเคียงในการช่วยระงับอาการแทรกซ้อนทางการเมือง ตามมตรฐาน “การ์ดไม่ตก”