เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com แม้ระบบการศึกษาของฟินแลนด์จะอยู่ในแถวหน้าของโลกมานานแล้ว แต่สี่ห้าปีมานี้ ประเทศนี้ก็ยังมีการปฏิรูปการศึกษา มาใช้วิธีการเรียนแบบเอา “ปรากฏการณ์เป็นตัวตั้ง” (phenomenon-based learning) แทนที่จะเน้นที่วิชาเฉพาะ เช่น คณิตศาสตร์ การอ่านการเขียน ประวัติศาสตร์ การเรียนแบบ “ปรากฏการณ์เป็นตัวตั้ง” จะสำรวจปรากฏการณ์ที่ข้ามเขตแดนของรายวิชา เรียนรู้เพื่อมองปรากฏการณ์จากมุมมองรอบด้าน เช่น เรื่องโลกร้อน เรื่องผู้อพยพ เรื่องโรคระบาด เรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาต่างๆ ก็ยังอยู่ แต่ก็เพียงเพื่อใช้มุมมองของวิชานั้นๆ เริ่มต้นพิจารณาปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เลือกมา ทำให้นักเรียนนำความรู้จากวิชาต่างๆ มาใช้ เพื่อให้มองเห็นอย่างรอบด้าน หรือถ้าใช้ศัพท์แสงในตระกูลนี้ คือ มองอย่างเป็นองค์รวม (holistic lens) มองทั้งองคาพยพ (organism) เรียนแบบบูรณาการ การเรียนแบบเอาปรากฏการณ์เป็นตัวตั้งมี 5 มิติที่สำคัญ คือ 1) มองอย่างรอบด้าน เป็นองค์รวม นักเรียนเห็นความซับซ้อนของประด็น และพยายามหาทางออกที่ครอบคลุมเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน 2) การให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์จริง (authenticity) 3) ในบริบทจริง (contextuality) สัมผัสได้ ไม่ใช่สมมุติหรือเป็นเพียงทฤษฎี อยู่ในบริบทของที่และเวลา คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง 4) เรียนโดยการสืบค้นปัญหา (problem-based inquiry) 5) จัดกระบวนการเรียนแบบ “ปลายเปิด” (open-ended learning processes) ไม่มีการตั้งธงหรือมีคำตอบสำเร็จไว้ล่วงหน้า ใช้วิธีการเรียนตามแนวคิดที่เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้สร้างความรู้ (Constructivism) และข้อมูลเป็นผลของการหาทางแก้ปัญหา การนำแนวคิดนี้มาใช้ทำให้นักเรียนได้เห็นมิติทางสังคมอย่างรอบด้าน เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนมีบทบาทสำคัญ เรียนแบบรุก (active learning) ไม่ใช่แบบรับ (passive learning) ที่แข่งขันกันหาแต่คำตอบที่มีอยู่แล้ว พวกเขาจะเลือกปรากฏการณ์ที่สนใจร่วมกับเพื่อน กับครู ซึ่งจะกระตุ้นให้สามารถเชื่อมโยงกับด้านอื่นๆ ไม่จำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ ของรายวิชา ฟินแลนด์บอกว่า โลกเปลี่ยน การเรียนก็ต้องเปลี่ยนด้วย การศึกษาต้องช่วยให้คนอยู่ในโลกใหม่ โลกแห่งอนาคตซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ โลกดิจิทัล และโลกอัตโนมัติ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐแทนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการเรียนแบบเดิมล้าสมัยแล้ว ทำให้คนออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้สร้างทักษะให้คนอยู่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ที่ต้องการคนมีทักษะการร่วมมือ การสื่อสาร การสร้างสรรค์ และการคิดแบบวิพากษ์ ลูกหลานเราอยู่ในโลกของพหุวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กัน ไปมาหาสู่ ซึ่งการเรียนรู้แบบมองรอบด้านทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นที่แตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมได้ อันเป็นวิญญาณของสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพให้เกียรติกันบนฐานความรู้ความเข้าใจและการยอมรับกัน ฟินแลนด์บอกว่า การศึกษาแบบเดิม เราผู้ใหญ่มักหลอกตัวเอง หลอกลูกหลานว่าชีวิตเรียบง่าย มีคำตอบหมดแล้ว เรียนไม่กี่ปี รู้ไม่กี่อย่างก็เพียงพอ วันนี้ทักษะสำคัญ คือการเรียนรู้เพื่อคิดเป็น เพื่อเข้าใจ เพื่อให้คนอยู่ดีกินดี อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาเบื้องหลังการศึกษาของฟินแลนด์จึงมองว่า การศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่จะต้องจัดการแบบธุรกิจ แข่งขันหนัก วัดผลอย่างเอาเอาตาย ระบบการศึกษาที่ดีอยู่ที่ความร่วมมือ ความไว้วางใจ (trust) ความรับผิดชอบร่วมกัน การวัดผลแบบ Pisa จากนี้ไปถ้าจะต่ำกว่าเมื่อก่อน ฟินแลนด์คงไม่ให้ความสำคัญ เพราะคุณภาพการศึกษาไม่วัดกันที่ระดับการเรียนวิชา การนับคะแนนเท่านั้น ระบบการศึกษาที่ดีออกแบบเพื่อการพัฒนาเด็กทั้งครบ รอบด้าน การเรียนรู้ที่ทำให้กินดีอยู่ดี มีสัมผัส (sense) และทักษะทางศิลปะ ดนตรี การแสดง พละศึกษา ที่เป็นประเด็นสำคัญในหลักสูตร ครูต้องมีคุณภาพ มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้หนักแน่นรอบด้าน ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและต่อเนื่อง เพื่อให้พัฒนาตัวเอง ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ความจริง ประสบการณ์ของฟินแลนด์ก็คล้ายกับของเดนมาร์กและประเทศในสแกนดิเนเวียที่มีการจัด “การเรียนเพื่อชีวิต” แบบ “โรงเรียนชาวนา” “โรงเรียนชาวบ้าน” มานานกว่าร้อยปี ที่เน้นให้ผู้เรียนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ ถนัด หรือต้องการเพื่อใช้ในชีวิตจริง มีทั้งเรียนในระบบและนอกระบบ เมื่อโลกเปลี่ยน การเรียนต้องเปลี่ยน และสิ่งที่ได้พบว่าสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ คือ “ทักษะการเรียนรู้” คือ การตั้งคำถาม เชื่อมโยงประเด็นให้รอบด้าน แล้วพยายามหาข้อมูล สร้างความรู้ที่เป็นคำตอบที่มาจากความเข้าใจด้วยตนเอง ไม่ใช่เพราะครูบอก บ้านเราก็มีการเรียนแบบ “เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง” ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 เรียนเพื่อรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนรากเหง้าของตน รู้จักท้องถิ่น รู้จักสังคม รู้จักโลก เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นและปัญหาต่างๆ นักศึกษาเรียนในระดับปริญญาตรี โดยมีปรัชญาว่า “เรียนรู้เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน” “เรียนแล้วช่วยตนเองได้ ช่วยคนอื่นได้” เรียนด้วยการปฏิบัติ ทำให้เกิด “ความรู้มือหนึ่ง” โดยทำโครงงานตลอดเวลาที่ศึกษา โครงงานที่พัฒนาตนเอง ทำให้แก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เสียดายว่า หน่วยงานของรัฐไม่เข้าใจปรัชญาการศึกษานี้ จึงเอากรอบเกณฑ์ตัวชี้วัดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย “ในระบบ” แบบทั่วไปทั้งของรัฐและเอกชนมาวัด “มหาวิทยาลัยชีวิต” ที่อยู่ “นอกระบบ” ผู้บริหารการศึกษาไทย กรรมาธิการการศึกษาในสภาฯ ทุกสมัยไปดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์ กลับมาก็ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไร ทั้งๆ ที่บ้านเราก็มี “การศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง” บนฐานคิดเดียวกับฟินแลนด์ที่เอา “ปรากฏการณ์เป็นตัวตั้ง” ก็ไม่เห็นสนใจไปดูงาน “มหาวิทยาลัยชีวิต” ในบ้านตนเอง หรือว่า ลิเกบ้านตนเอง เล่นอย่างไรก็ไม่สนุก หมอลำบ้านเฮาลำแนวไดก็บ่ม่วนเท่าหมอลำบ้านเพิ่น