“ความรุนแรง” ที่เป็นรูปธรรมประจักษ์ชัด เช่น สงคราม , การก่อการร้าย , อาชญากรรมประทุษฐ์ร้ายบุคคล ฯลฯ ย่อมถูกต่อต้าน แต่น่าแปลกไหม ที่ความรุนแรงรูปธรรมข้างต้น ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกแห่ง ทำไมมนุษย์จึงต่อต้านการใช้ความรุนแรงไม่สำเร็จสักที ปัญหานี้มีรากเหง้าทั้งสองทาง คือปัญหาธรรมชาติมนุษย์ที่ยังคงมีสัญชาติญาณของสัตว์ทั่วไป และสาเหตุที่ซ่อนอยู่ใน “สังคมมนุษย์” ได้แก่ ปัญหาทางโครงสร้าง , ปัญหาทางวัฒนธรรม ฯ ในทางโครงสร้างสังคมนั้น มีผู้รู้อธิบายถึง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ไว้ไม่น้อย ประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ การเอาเปรียบทางสังคม (Exploitation) อันส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่ง มีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกเอาเปรียบ  และทำให้สังคมมีโครงสร้างและสร้างสถาบันพยุงสถานะของความเหนือกว่านั้นไว้ รวมทั้งปล่อยให้ผู้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทรมานไร้ทางออก ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่เป็นความรุนแรงที่ถูกสร้างภายในโครงสร้างของสังคมนั้น ในที่สุดก็ขยายตัวฝังรากลึกเป็นวัฒนธรรม “ความรุนแรง” ที่เราเห็นแบบพร่ามัวไม่ชัดเจน ก็คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่เป็นความรุนแรงที่ถูกสร้างภายในโครงสร้างของสังคมนั้น ผูกโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบอำนาจในสังคมที่แสดงออกมาให้เห็นความแตกต่างของตำแหน่งแห่งที่ในสังคมและกลายเป็นความแตกต่างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน จนกระทั่งเกิดสิ่งที่เรียกว่าความอยุติธรรมทางสังคม ดังเช่น การพัฒนาที่สร้างปัญหาให้กับคนยากจนทุกข์ยาก การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความรุนแรงในทางตรงที่เป็นเรื่องของความรุนแรงที่มีตัวตนจับต้องได้  เช่น การทำสงคราม การทำปฏิวัติรัฐประหาร ฆาตกรรม เป็นต้น โดยรากลึกแล้ว มันมีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ช่วยค้ำจุนสนับสนุนความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม และระบบสัญลักษณ์ที่เป็นการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆในสังคมและใช้ตัดสินใจ หรือกำหนดทิศทางของความรุนแรงเชิงโครงสร้างและทางกายภาพได้ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม เป็นฐานค้ำจุนที่ทำให้ความรุนแรงโดยตรงมีความชอบธรรมและปรากฏให้รูปธรรมของความรุนแรงในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ในสังคมทั่วโลก จะต้องเข้าใจโครงสร้างอำนาจของสังคมนั้น ๆ เข้าใจวัฒนธรรมรากลึกของสังคมนั้น ๆ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่าง “อวิชชา” ในโซเชียลมีเดีย และกระทั่งในสื่อที่มีกองบรรณาธิการรับผิดชอบ บางครั้งหลายกรณี กลับกลายเป็น “วาทกรรม” ที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเสียเอง ประเด็นนี้สื่อสารมวลชนที่แท้จริง พึงคำนึงและมีความรับผิดชอบมากขึ้น