ทวี สุรฤทธิกุล
สังคมไทยถ้ามีพรรคพวกเส้นสายไม่มีหมดอนาคต
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรมาจารย์ทางการเมืองไทย พูดถึงสังคมขุนนางไทยสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เป็นสังคมของการประกวดแข่งขันกันเรื่อง “อำนาจวาสนา” โดยเฉพาะความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ว่าใครเป็นที่โปรดปรานมากกว่ากัน ด้วยการเอาสิ่งของพระราชทานต่างๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วแหวน พานทอง เครื่องหมาก ฯลฯ ออกมาแต่งประกวดประชันกัน พร้อมด้วยขบวนแหนแห่เวลาที่ไปเข้าเฝ้า ขบวนของขุนนางใหญ่บางท่านนั้น “ยาวเป็นโยชน์” คือมีบริวารห้อมล้อมแห่แหนแน่นขนัด จนมีเพลงยาวล้อเลียนว่า “ถนนกว้างสามวามาไม่ได้”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่าท่านเกิดทันยุคนั้น ตอนนั้นท่านยังเป็นเด็กเล็ก อายุสัก 6-7 ขวบ ได้ตามท่านแม่เข้าไปในพระราชวังพญาไทที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ประทับอยู่ ระหว่างที่ท่านแม่ไปเข้าเฝ้าเจ้านายฝ่ายในที่ประทับอยู่ในเขตพระราชฐาน ก็ปล่อยให้เด็กชายคึกฤทธ์วิ่งเล่นกับเพื่อนเด็กๆ ลูกหลานของข้าราชบริพารคนอื่นๆ อยู่แถวๆ นั้น แล้วก็คงเล่นกันเพลินจนเข้าไปใกล้ห้องทรงงาน เพราะได้ยินเสียงออกมาจากพระแกล(หน้าต่าง)ว่า “ลูกใครวะ มาวิ่งเล่นเสียงดังอยู่แถวนี้” แล้วก็มีมหาดเล็กมาต้อนให้ไปเล่นที่อื่น วันหนึ่งพวกเด็กๆ เล่นกันเพลินไปใกล้ๆ พระตำหนัก ไม่มีใครสังเกตเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวกำลังพระราชดำเนินออกมา พอมีคนตะโกนบอกว่า “เสด็จๆ” เด็กชายคึกฤทธิ์ก็วิ่งไปล้มอยู่ใกล้พระชงฆ์(แข้ง)เสียแล้ว และได้ยินเสียงตรัสว่า “เอ็งลูกใคร นี่ถ้าข้าเป็นอะไรไปจะเดือดร้อนกันไปหมดนะ” เด็กชายคึกฤทธิ์พนมมือตอบว่า “ลูกพระองค์เจ้าคำรบพระพุทธเจ้าข้า” แล้วก็มีเสียงตรัสต่อมาว่า “อ้อ พ่อเอ็งมีเมียกี่คนวะ” เด็กชายคึกฤทธิ์คิดถึงขุนนางใหญ่ๆ ในสมัยนั้นว่า ถ้าใหญ่จริงๆ ก็ต้องมีเมียหลายคน ด้วยความที่อยากให้พ่อเป็นคนยิ่งใหญ่ จึงตอบไปว่า “5 คนพระพุทธเจ้าข้า” พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า “เอ้า เอ็งถือไม้เท้าของข้าแล้วเดินตามข้ามา” ปรากฏว่าคนอื่นๆ มองเด็กชายคึกฤทธิ์อย่างเคารพนับถือ ที่อยู่ๆ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่โปรดปราน เหมือนเป็นมหาดเล็กคนโปรดกระนั้น แต่ครั้นเรื่องนี้แพร่งพรายออกไป พอตอนเย็นกลับถึงบ้านก็ถูกท่านพ่อทำโทษ แล้วตำหนิว่าทำไมจึงไปกราบทูลว่ามีเมียหลายคน ซึ่งเด็กชายคึกฤทธิ์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องโดนทำโทษ
ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านเล่าบรรยากาศตอนนั้นว่านักเรียนไทยที่นั่นพากันเฉลิมฉลองด้วยความดีใจ ส่วนตัวท่านเองก็คิดอยู่ในใจว่า “หมดสิ้นกันทีพวกขุนนางที่น่าเบื่อ” โดยสาเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจในครั้งนั้นก็คือต้องการที่จะลดอำนาจของบรรดาขุนน้ำขุนนาง ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็รู้สึกมาตลอดว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายมากๆ ครั้นท่านกลับมาเมืองไทย มาทำงานและแต่งงานแล้ว ก็เริ่มสนใจที่จะเล่นการเมือง โดยคู่ต่อสู้ของท่านก็คือกลุ่มคณะราษฎร เพราะท่านผิดหวังมากจากพฤติกรรมต่างๆ ของคณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงคณะนี้ ในความหวงอำนาจและพยายามจะแสวงหาประโยชน์ให้กลุ่มพรรคพวก รวมถึง “ความกร่าง” ของคนในคณะราษฎรที่กร่างไปถึงลิ่วล้อบริวาร คือแสดงอำนาจกดขี่คนอื่นๆ ยิ่งกว่าขุนนางในระบบเก่าเสียอีก โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกคณะราษฎรนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”
มีหลายคนวิเคราะห์ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นพวก “กษัตริย์นิยม” แต่ถ้าได้วิเคราะห์ให้ลึกๆ และได้รู้จักกับท่านจริงๆ แล้ว น่าจะเรียกท่านว่าเป็นพวก “เสรีนิยมหัวก้าวหน้า” มากกว่า แม้ว่าท่านจะเกิดเป็นเชื้อพระวงศ์แต่ท่านก็ไม่ได้ “งมงาย” ในความเป็นเจ้าแต่อย่างใด แน่นอนว่าท่านมีความเคารพเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างสุดชีวิต แต่ก็เป็นความรู้สึกเฉพาะบุคคลกับเพียงบางพระองค์ ท่านยกย่องคนที่เป็น “ผู้นำที่ดี” แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือเผด็จการ (ดังจะเห็นได้จากบทความนับร้อยๆ เรื่องของท่านที่เขียนและพูดถึงคนเหล่านั้น ที่ต่อมาสำนักพิมพ์บรรณกิจได้รวมเล่มได้ 3-4 เล่ม ในชุด “คนของโลก”) เช่นเดียวกันกับที่ตำหนิโจมตี “ผู้นำที่เลว” แม้ว่าจะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือเป็นนักบวชก็ตาม
ความเป็นนักเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของท่านยังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้นำ “นววัตกรรม” หลายๆ อย่างมาสู่การเมืองไทย เริ่มตั้งแต่การตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในชื่อว่า “พรรคก้าวหน้า” ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แล้วก็มายุบรวมกับพรรคอื่นๆ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ในปีต่อมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นเป็นพวกเสรีนิยมมากๆ เพราะต่อต้านคณะราษฎรที่เป็น “เจ้าพวกใหม่” ดังกล่าวนั้น นอกจากนั้นในการหาเสียง ท่านยังได้นำรูปแบบการพูด “บนลังสบู่” แบบที่ท่านเคยเห็นอยู่ในประเทศอังกฤษ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการปราศัย “ข้างสวน” แบบที่พูดกันใน Hyde Park กรุงลอนดอน ซึ่งคนไทยเรียกการปราศัยแบบนี้ว่า “ไฮปาร์ค” นั่นเอง ต่อมาในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ท่านก็เล่นการเมืองต่อมาอีกระยะหนึ่ง จนมองเห็นปัญหาของเผด็จการในยุคนั้นว่าน่าจะไปไม่รอดและกำลังเป็นอันตรายต่อสถาบันที่ท่านเคารพเทิดทูน ท่านจึงออกมาตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อว่า “สยามรัฐ” เพื่อต่อสู้กับ “ระบอบพิบูลสงคราม”
นั่นคือบางส่วนของความเป็นเสรีชนที่มีแนวคิดก้าวหน้าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ผู้เขียนนำมาเป็น “อารัมภบท” ของบทความชุดนี้ ซึ่งตั้งใจจะเขียนให้เห็น “ความน่าสังเวช” ของระบบรัฐสภาไทย โดยอาศัยประสบการณ์และข้อคิดเห็นจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาเป็นส่วนนำ เพื่อนำไปสู่ระบบการปกครองที่เป็นไทยๆ ที่ยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ในระบบรัฐสภาของไทยที่ได้ชื่อว่า “ศาลาพักใจ”
ใครมาพักใจ พักเพื่ออะไร และจะพักไปถึงไหน ติดตามกันนะครับ