เสือตัวที่ 6
ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองปลายด้ามขวานของไทย ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐของขบวนการนี้อย่างแน่วแน่ โดยยึดมั่นในแนวคิดสุดโต่ง เหนียวแน่นตลอดมา โดยอาศัยสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงง่ายต่อการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความเห็นต่างกับคนส่วนใหญ่ของรัฐอย่างได้ผลตลอดมา จากข้อมูลพบว่า การขับเคลื่อนวาทกรรมสร้างแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและศาสนาแนวทางนิยมความรุนแรงของขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันนั้น สามารถดำเนินการอย่างได้ผลในระดับยุทธศาสตร์ ด้วยอาศัยพื้นฐานทางกายภาพที่ถูกขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคนของรัฐโดยทั่วไป ตอกย้ำด้วยการขับเคลื่อนผ่านวาทกรรมอันลุ่มลึก เพื่อให้เกิดแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่ง ร่วมกับการบ่มเพาะความเชื่อทางศาสนาแบบเคร่ง เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวร่วมขบวนการและถลำลึกไปสู่การติดอาวุธเพื่อเป็นกองกำลังของการต่อสู้กับรัฐ
โดยการขับเคลื่อนวาทกรรมสร้างแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและศาสนาหัวรุนแรงดังกล่าวนั้น ฝ่ายนักคิดและนักสร้างแนวร่วมมวลชนของขบวนการแห่งนี้ ได้นำเอาหลักศาสนามาตีความทางประวัติศาสตร์เฉพาะส่วนประเด็นของการขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อต้องการแสวงหาเหตุผลเชิงตรรกะอย่างลุ่มลึก อธิบายอย่างแยบยลต่อคนในพื้นที่ท้องถิ่นให้หลงเชื่อและคล้อยตามได้ง่าย บนความแตกต่างทางกายภาพของคนเฉพาะถิ่นที่ฝ่ายขบวนการได้เรียกร้องและขับเคลื่อนอย่างทรงพลังจนได้รับการยินยอมจากรัฐเรื่อยมาเป็นเวลานาน โดยพยายามเจาะประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ มาตุภูมิปัตตานีในอดีตดำรงสถานะเป็นรัฐอิสลามจนก่อให้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ที่ผสมกันทั้งชาตินิยมสุดโต่ง และความเข้าใจเพียงบางส่วนในหลักศาสนาเรื่องดารุลฮัรบี และใช้โอกาสนี้ชี้นำสู่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานี้เป็นการต่อสู้เพื่ออิสลาม (Jihad)
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งและความเข้าใจเพียงบางส่วนในหลักศาสนาเรื่องดารุลฮัรบี ถือเป็นธงนำทางความคิดร่วมกันเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มคนในขบวนการแห่งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ดังนี้ ขั้นแรก เป็นขั้นตอนการปลุกระดมบ่มเพาะสร้างวาทกรรมแห่งความขัดแย้ง โดยใช้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มลายูปัตตานี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลและการล่มสลายของปัตตานี โดยมุ่งกระตุ้นจิตสำนึกชาตินิยมมลายูปัตตานีแบบสุดโต่ง นำสู่แนวคิดความเชื่อร่วมกันเชิงอุดมการณ์ การแบ่งแยกผู้คนออกจากกันระหว่างคนในพื้นที่แห่งนี้กับคนอื่นๆ ผ่านการสร้างความเกลียดแค้นเชิงชาติพันธุ์ ก่อเป็นแนวคิดชาตินิยมมลายูปัตตานี ที่มีประวัติศาสตร์รองรับกลายเป็นวาทกรรมชาตินิยมปัตตานีที่ผสมผสานระหว่างเชื้อชาติมลายูและชาตินิยมมลายูปัตตานี (มาตุภูมิ) แบบสุดโต่ง
และเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ปัตตานี เป็นวาทกรรมหลักที่ควบคุมแนวคิด จนเป็นความเชื่อที่เป็นธงนำร่วมกันบนความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับคนของรัฐในพื้นที่อื่น หรือกับคนที่มีความเชื่อและวิถีที่แตกต่าง และจากการที่กลุ่มแกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ ได้นำหลักศาสนามาตีความประวัติศาสตร์ด้านเดียวนี้เอง ถือเป็นการบ่มเพาะหลักศาสนาที่คลาดเคลื่อนไปมาก เพื่อต้องการชี้นำให้เชื่อว่าดินแดนปัตตานี หรือปาตานี ที่ล่มสลาย ถือเป็นดินแดนแห่งสงครามในอิสลามที่เรียกว่าดารุลฮัรบี
ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานีถือเป็นความชอบธรรมและเป็นธงนำร่วมกันทางความคิดความเชื่อที่ยึดโยงคนในพื้นที่เข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น การต่อสู้เพื่อศาสนา เป็นการทำสงครามญิฮาด (Jihad) ในทางศาสนาดังกล่าวนี้ จึงถือเป็นวาทกรรมที่นำสู่แนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งที่ยากจะลบล้างหรือเปลี่ยนความเชื่อนี้ได้โดยง่าย แม้จะมีบุคคลที่เป็นผู้นำทางศาสนาที่พยายามอธิบายความจริงอีกด้านหนึ่ง ก็อาจถูกทำร้ายทำลายลงเพราะถือว่าเป็นศัตรูของกลุ่มตน ส่งผลเชิงเชิงพฤติกรรมแห่งความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
หากจะอธิบายอีกด้านหนึ่งแล้ว จะพบว่า แนวคิดดารุลฮัรบี ที่กลุ่มแกนนำของขบวนการ พยายามบ่มเพาะแนวคิด จนเป็นความเชื่อซึ่งเกิดจากแนวคิดร่วมเชิงอุดมการณ์ชาตินิยมมลายูปัตตานีแบบสุดโต่งนั้น มิได้เกิดจากฐานข้อเท็จจริงตามหลักศาสนาอย่างรอบด้านและครบถ้วนอย่างแท้จริง แต่ยุทธศาสตร์การบ่มเพาะแนวคิดจนเป็นความเชื่อแบบสุดโต่งที่ต้องทำลายล้างฝ่ายเห็นต่างของฝ่ายขบวนการแห่งนี้นั้น มุ่งกระทำผ่านกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะ โดยสร้างเป็นวาทกรรม หล่อหลอมจนเป็นความเชื่อและจนถึงขั้นเป็นความศรัทธา ให้บังเกิดกับคนมลายูในพื้นที่ จชต. ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ บนความเชื่อเรื่องดารุลฮัรบี ได้กลายเป็นสิ่งเร้า เร่งให้เกิดแนวคิดการให้ความสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของกลุ่ม ขบวนการร้ายแห่วนี้อย่างเหนือชั้นจวบจนปัจจุบัน กระบวนการในขั้นแรกนี้ เป็นกระบวนการเริ่มแรกของปัญหาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มคนที่หลงเชื่อในพื้นที่ จชต. ซึ่งแกนนำของกลุ่มขบวนการ ต้องดำรงการขับเคลื่อนการต่อสู้ เพื่อสื่อให้ประชาคมโลกเห็นถึงความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับคนท้องถิ่นให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง อันเป็น 1 ใน 4 เงื่อนไขของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (RSD) ซึ่งเป็นกระบวนการของประชาคมโลกในการยุติความรุนแรงของปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐ ผ่านการสร้างแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและศาสนาหัวรุนแรงดังกล่าวนั้น เพื่อสื่อให้ประชาคมโลกเห็นถึงความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับคนท้องถิ่นให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างวาทกรรมจากอดีตถึงปัจจุบันและสู่อนาคตทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ตลอดจนในชุมชน เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนของการดำรงอยู่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง เพื่อสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้ยืดเยื้อยาวนาน พัฒนาเป็นการต่อสู้ด้วยการก่อความไม่สงบต่อรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ และนั่น คือการต่อสู้ของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จึงยังคงดำเนินต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์อิสระในการปกครองกันเอง อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่พวกเขาต้องการ