ประเทศไทยรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ทางด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี จนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิข ยังอยู่ในอาการโคม่า
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวในการเปิดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยวิถีธุรกิจแบบใหม่” ว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ประเมินว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อ โคโรนาไวรัส (โควิด-19) อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 5.8-8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.4-9.7% ของ GDP โลก ซึ่งถ้ากลับมาดูประเทศไทย คิดว่าประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะมีคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน และถ้าสถานการณ์ยาว 3-4 เดือนขึ้นไปอาจจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติทุกอย่างหอการค้าไทยมองว่าเป็นโอกาสเสมอ โอกาสที่พูดถึงคือการยกระดับมาตรฐานการบริการ เมื่อก่อนเน้นปริมาณ ยกตัวอย่างด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน แต่ตอนนี้บริบทใหม่เน้นคุณภาพ สร้างความแตกต่าง สินค้าและบริการให้มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป วิธีการทำงานเน้นความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาสินค้าและบริการ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ให้โดดเด่นเพื่อสร้างความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญมาก
นายกลินท์ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้คงไม่ใช่วิกฤติสั้นๆ เดือนสองเดือนจบ แต่จะอยู่กับเราอย่างน้อย 1 ปีแน่นอน ทำอย่างไรให้การสร้างมาตรการเรื่องความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เกิดความมั่นใจในการก้าวต่อไปในอนาคตแบบ New Normal อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หอการค้าไทย ทำโครงการเปิดเมืองปลอดภัย โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แบ่งกลุ่มกิจการการค้าออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.สีขาว กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์
2.สีเขียว สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงปานกลาง
3.สีเหลือง สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง
4.สีแดง สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง
ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เราจะอยู่กับภาวะโควิด-19 นานนับปี หรืออาจจะถึง 1 ปี 6 เดือน และจะใช้เวลาถึง 3 ปี เศรษฐกิจจึงจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้ทรัพยากรไปมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยผู้ได้รับความเดือดร้อน ทำให้มีทรัพยากรในมือลดลง โครงการใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลมีเงินเหลือน้อยลง อาจต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในบางรูปแบบ เช่น ภาษีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจมีกำไรลดลง
นายสมเกียรติ มองว่า ช่วงเวลา 1 ปี ถึง 1ปีครึ่งต่อจากนี้ ก่อนจะกลับมาสู่ความปกติด้านสุขภาพ คือ มีวัคซีน มียารักษาโรค คือช่วงที่เราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่เหตุการณ์หลังจากนั้น ซึ่งตรงนี้คือจุดที่เป็น New Normalนอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังผลักดันให้มีการทำสิ่งใหม่ คือ การรณรงค์ให้มีการทำงานที่บ้าน ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องเร่งรีบ หลายคนมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลาดูแลญาติพี่น้องผู้สูงอายุ มีเวลาทำงานอดิเรก มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาหาความรู้ ส่วนภาครัฐซึ่งมีบุคลากรจำนวนมาก ถ้าจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่บ้านก็ทำได้แต่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานเกี่ยวกับเอกสาร มักติดขัดกฎระเบียบ และงานเอกสาร ถ้าจะปฏิรูปก็ควรเอาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะช่วยลดต้นทุนได้
เราเห็นว่า แม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 3 ปี แต่หากเกิดกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ในทิศทางที่ตอบโจทย์โลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัย และสุขภาพ เราอาจฟื้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจไปได้ไกลกว่าสถานกาณ์ก่อนหน้าการแพร่ระบาด