นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้ ครบรอบ 6 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ที่ยึดอำนาจแล้วเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหลังการเลือกตั้งวัน 24 มีนาคม 2562 ในรัฐบาลพลเรือน น่าสนใจที่วาระอันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเวียนมาบรรจบเช่นนี้ อยู่ในภาวะที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับสงครามโควิด-19ที่ยังมองไม่เห็นจุดจบในเร็ววันนี้ วิกฤติโควิด-19 จึงมีอำนาจแทรกแซงการเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย จากเงื่อนไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำไปสู่การประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการในการแก้ไขปัญหามาอยู่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) หรือศบค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการ และการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานคือ เคอร์ฟิว ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ที่กุมบังเหียนกลไกในการแก้ไขปัญหาต่างๆกลับมาทรงอำนาจอีกครั้ง แม้ไม่เทียบเท่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากในสถานการณ์ปกติ เมื่อถึงวาระครบรอบวันรัฐประหาร ย่อมจะมีการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างคึกคัก ทว่าในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ ทำให้การรวมตัวของคนหมู่มาก ในลักษณะของการชุมนุมเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา หากสถานการณ์สุกงอมเพียงพอ แม้จะมีพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินครอบอยู่ ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของมวลชนได้ วิกฤติโควิด-19 จึงกลายเป็นตัวจัดการ กำหนดให้มวลชนเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากความพยายามปรับรูปแบบในการเคลื่อนไหว แสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น กรณีการใช้เลเซอร์ฉายข้อความ “ตามหาความจริง” ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ของคณะก้าวหน้า และการเชิญบุคคลต่างๆร่วมเขียนบทความรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. ที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังในการติดเชื้อ มิไยที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครบรอบรัฐประหาร 22 พ.ค. เขาเอาแน่นอน (เนชั่นสุดสัปดาห์ 16 พ.ค.) หากแต่คำว่า “เขาเอาแน่นอน” ที่พล.อ.อภิรัชต์ระบุนั้น จะรุกคืบในรูปแบบใดในสถานการณ์วิกฤติเช่นนิ้ จึงเต็มไปด้วยความท้าทาย แม้จะมีเงื่อนไข จากสถานการณ์ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และปัญหาปากท้องจากพิษเศรษฐกิจ ในขณะที่การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เข้าสู่ระยะที่ 2 และคลายล็อกดาวน์การเมือง โดยล่าสุดมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้แล้ว จึงต้องจับตาการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกสภา เมื่อโควิดเริ่มซา สถานการณ์การเมืองจะเริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง