สถาพร ศรีสัจจัง
ขนาดเป็นคนอ่านหนังสือน้อย แต่ก็ยังจำได้ว่า เคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ “แซ่” หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน ที่จำได้แม่นคือหนังสือ “บันทึกของคนแซ่ปึง” โดย กรณ์ ไกรลาศ อดีตนักเขียนเรื่องสั้นมือทอง ที่ภายหลังผันตัวเองกลายเป็น “เสี่ยใหญ่” แห่ง “GM.กรู๊ฟ” นั่นไง เล่มนี้ถ้าจำไม่ผิดเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยประเภท “รวมเรื่องสั้น” อีกเล่ม อ่านครั้งเมื่อยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีต้นๆ เป็นหนังสือดังของยุคนั้น ชื่อ “คนแซ่หลี” เขียนโดยปราชญ์/นักการเมืองแห่งล้านนาที่ชื่อ ดร.สุกิจ นิมมานเหมินทร์ อดีตอาจารย์ผู้ใหญ่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อดีตรัฐมนตรีหลายตำแหน่งหลายสมัย และหลายกระทรวง
เล่มสำคัญที่เพิ่งหยิบมาอ่าน ค่อนข้างละเอียดเพราะต้อง “รีวิว” ไว้ใช้อ่านบางอย่าง เป็นหนังสือที่ระลึกวันตรงกับวันเสด็จสวรรคตในพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2517 เล่มนี้ระบุชื่อผู้เรียบเรียงว่าชื่อ “นายอำพัน ตัณฑวรรธนะ” และระบุชื่อผู้จัดพิมพ์ว่าคือ นายณรงค์ กองบุญมา”
จึงได้รู้ถึงรายละเอียดเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งว่า ชาวจีน “แซ่ตัน” นั้นเกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ไทยในกรณีพระราชวงศ์จักรีอยู่ไม่น้อย
พยายามหาข้อมูลเรื่องความเป็นมาของเรื่อง “แซ่ตัน” ก็พบว่ามีความเป็นมาอย่างยาวนาน และ น่าสนใจยิ่ง
ใครที่ชอบสืบต้นเรื่องราวเกี่ยวกับเกร็ดประวัติศาสตร์ อาจสืบค้นลงลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเขียนเรื่องราวได้เป็น “ซีรี่ส์” ทีเดียวก็ว่าได้
ก็ฟังมาว่า “ยาขอบ” หรือ โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าชายจากเมืองแพร่ นักเขียนเอกของไทยผู้เขียนเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” อันลือลั่น ก็ใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์พม่าเพียงไม่กี่บรรทัด แต่สามารถ รจนาอมตนิยายเรื่องดังกล่าว ขับขานเรื่องราวของ “บุเรงนอง”มหาราชแห่งเมืองพม่า ได้เป็น “ซีรี่ส์” ขนาดยาวเหยียดให้ผู้อ่านติดกันจนงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นไง เรื่องนี้ก็คงทำได้เช่นกัน(ถ้ามีฝีมือ!)
“แซ่ตัน” นั้นเป็นคำภาษาฮกเกี้ยน ถ้าเป็นภาษาจีนกลางว่า “แซ่เฉิน” ส่วนภาษาแต้จิ๋วคือ “แซ่ตั้ง”!
ความหมายของคำ “เฉิน” ในภาษาจีนกลางอาจมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น หมายถึง “วางเรียงราย”
“ชำนาญ” เก่าแก่” หรืออาจหมายถึงชื่อแคว้นหรือชื่อราชวงศ์ ก็ได้
ที่มาของแซ่เฉินนี้ฟังว่ามีที่มา 2 ทาง ทางหนึ่งว่าต้นตระกูลคือ หูกงหม่าน อ๋องผู้ครองแคว้นเฉินในสมัยชุนชิว(ก่อน ค.ศ.476 ปี) หลังจากท่านเสียชีวิตแล้วลูกหลานจึงใช้ “แซ่เฉิน” เพื่อเป็นที่ระลึก
อีกทางบอกว่า แซ่เฉินนับเป็น 1 ใน 5 แซ่ใหญ่ของแผ่นดินจีนปัจจุบัน มีความเป็นมาอย่างยิ่งใหญ่ยาวนาน มีบรรพชนที่มีชื่อเสียงเกียรติภูมิในประวัติศาสตร์จีนเป็นจำนวนมาก อาทิ เฉิน จื่อ ฮั่ง กวีผู้มีชื่อเสียงยุคราชวงศ์ถัง หรือ นักพรตเฉินกวน อาจารย์ลัทธิเต๋าสมัย 5 ราชวงศ์ และสมัยซ่งเหนือ เป็นต้น
ที่เกี่ยวข้องกับมหาราชวงศ์จักรีชัดๆของ “แซ่ตัน/เฉิน” ตามหนังสือที่ระลึกฯ ที่เพิ่งอ่านมากล่าวถึง ก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ซึ่งทรงมีพระราชมารดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเช่นกัน) ทรงมีพี่น้องทั้งสิ้นรวม 5พระองค์ พี่สาวพระองค์หนึ่ง (ลูกคนที่ 3) เดิมชื่อ “แก้ว” ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้วได้ทรงสถาปนาพี่สาวคนนี้ขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์”
ก่อนจะได้รับการสถาปนาฯ เจ้าหญิงแก้ว ได้แต่งงานกับพระราชภัสดามาก่อนแล้ว พระราชภัสดา มีนามว่า “เจ้าสัวเงิน แซ่ตัน” เป็นลูกเศรษฐีชาวอยุธยา ในหนังสือราชสกุลวงศ์ฯ ที่เพิ่งอ้าง กล่าวถึง “เจ้าสัวเงิน” ไว้สั้นๆว่า (หน้า48) “...เจ้าสัวเงิน แซ่ตันนี้ คนไทยเรียกว่า เจ้าขรัวเงิน มีเชื้อสายเป็นขุนนางจีนปักกิ่ง อพยพมาอยู่เมืองไทย มีบุตรธิดากับสมเด็จพระศรีสุดารักษ์(แก้ว) 6 องค์...”
และจากแหล่งเดียวกันยังมีความกล่าวต่อมาอีกว่า :
“เมื่อสมเด็จพระศรีสุดารักษ์(แก้ว) อพยพหลบภัยมาอยู่เมืองสมุทรสงครามนั้น มีพระโอรสพระธิดาแล้ว 3 พระองค์ และกำลังทรงพระครรภ์ที่ 4 แต่ในเวลานั้นยังมีศึกพม่า จึงต้องเสด็จไปหลบภัยพม่าอยู่ในป่าทางทิศเหนือวัดจุฑามณี ตำบลบางช้าง...จึงได้ประสูติธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “บุญรอด”โดยถือนิมิตที่รอดปลอดภัยจากพม่า...ต่อมาเจ้าหญิงบุญรอดได้เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีโอรส 3 องค์ คือ
1.เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ พ.ศ.2344
2.เจ้าฟ้าชายมงกุฎ(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)
3. เจ้าฟ้าชายจุฑามณี(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ พ.ศ.2351)...”
............................................................
เริ่มเห็นภาพความสัมพันธ์ของ “แซ่ตัน” หรือ “เฉิน” กับมหาราชวงศ์จักรีบ้างหรือยัง? อนึ่ง ถ้าใครเป็นนักเลงหนังสือเก่า โดยเฉพาะหนังสือที่ระลึกทั้งงานศพ และ งานอื่นๆ ถ้าเคยอ่านหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของนาย “ตันชิวเม้ง”กับ นางทองพูล หวั่งหลี ก็ย่อมต้องเห็นว่าตระกูลมหาเศรษฐี “หวั่งหลี” ก็ “แซ่ตัน” เช่นกัน!!!!