“ครูหื่น หมายถึง ครูที่มักมากในกาม ชอบกระทำอนาจาร ข่มขืนกระทำชำเราเด็กนักเรียน เพราะสะดวกง่ายใกล้ตัว จึงถือเป็นภัยร้ายแรงกับเด็ก” (รศ.วันทนา จันทพันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา ให้ความหมายไว้ในคอลัมน์ ผู้หญิงพลังบวก สยามรัฐ วันที่ 26 กรกฎาคม 2561) กรณีเด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี และ 16 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ถูกครูและศิษย์เก่าผู้ต้องสงสัยข่มขืนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ที่กำลังเป็นข่าวสะเทือนใจสังคมอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนนิยามข้างต้น แม้ในความเป็นจริงในทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนอยู่ แต่กับอาชีพครูนั้นได้รับการคาดหวังให้เป็นแบบอย่างของสังคม มีผู้เคารพยกย่องในฐานะที่เป็นผู้สั่งสอนอบรมให้ความรู้คน ในขณะที่โรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ที่ผ่านมาก็มักจะมีข่าวการล่วงละเมิดเด็กจากภายในโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง จากทั้งบุคลากรทางด้านการศึกษาและนักเรียนด้วยกันเอง “ไม่ควรมีเด็กคนใดควรต้องเผชิญกับความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด หรือสถานที่ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน ซึ่งควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โรงเรียนต้องเป็นที่ ๆ เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง และเป็นที่ ๆ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ เติบโต ตลอดจนพัฒนาทักษะและความมั่นใจในการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต หนึ่งในหน้าที่และจริยธรรมพื้นฐานที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา คือการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนทุกคน โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการติดตาม เฝ้าระวัง และสังเกตสัญญาณที่บ่งชี้เหตุรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการถูกละเลยทอดทิ้ง ตลอดจนรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ครูยังมีหน้าที่ปกป้องนักเรียนจากอันตรายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอันตรายที่กระทำโดยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันเอง”ความตอนหนึ่ง จากแถลงการณ์ของยูนิเซฟ ประณามเหตุการณ์เลวร้ายนี้แสดงถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองเด็กในโรงเรียน พร้อมเรียกร้องว่ากรณีนี้ควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับปรุงโดยด่วน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา สภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองผู้อำนวยโรงเรียนสตรี ประจำจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียนในสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยครูประจำชั้น ครูแนะแนว ครูผู้สอน และหัวหน้าระดับชั้น ต้องสร้างกิจกรรมเชิงป้องกันเชิงรุกให้เด็ก อาทิ การเยี่ยมบ้าน การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การเปิดชมรม และกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากทำได้อย่างเข้มแข็งจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน มีความกล้า พร้อมรับมือกับปัญหาความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะภัยที่เกิดจากการกระทำของครูที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดในคดีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน จึงเห็นว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาต้องกล้าหาญตัดเนื้อร้ายด้วยความเด็ดขาดและเข้มแข็ง พร้อมหามาตรการเชิงรุกกับครูก่อนที่จะก่อคดีเช่นนี้ เราเห็นว่า ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จากมันสมองของคนไทยเป็นจำนวนมาก ในการบริหารจัดการให้ได้ตามมาตรฐานสาธารณสุข ฉะนั้นภายใต้วิถีใหม่ยุคโควิดนี้ น่าคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ของเด็กในสถานศึกษาแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กหาย เด็กเสียชีวิตจากการถูกหลงลืมไว้ในรถ และช่วยลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศภายในสถานศึกษา แม้จะเป็นการล้อมคอกแต่ถ้าตั้งการ์ดสูงไว้ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง