แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จะเป็นเลขตัวเดียวติดต่อกันเป็นสัปดาห์แล้ว แต่ทุกฝ่ายยังคงย้ำเตือนให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกสอง โดยยกบทเรียนของประเทศอื่นเพื่อย้ำเตือนให้ไทยไม่ประมาท เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเคยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ ยกย่องให้เป็นหนึ่งหนึ่งในประเทศที่รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง แต่เกิดช่องโหว่จากปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวอพยพ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ำเตือนการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะระลอกสอง โดยแนะนำให้ภาครัฐเฝ้าระวังโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า กรณีของแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งแต่เดือน ก.พ.-11 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 74 คนนั้น มีผู้ป่วย 65 คน และพบว่ามีผู้ป่วยสัญชาติเมียนมามากที่สุด 57 เปอร์เซ็นต์ ต่างด้าวอื่น 31 เปอร์เซ็นต์ สัญชาติเวียดนาม 5 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซีย 3 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 2 เปอร์เซ็นต์ เยเมน 2 เปอร์เซ็นต์ และอินเดีย 2 เปอร์เซ็นต์ (วันที่ 13 พฤษภาคม2563) อย่างไรก็ตาม VOA รายงานว่า มีชาวเมียนมาที่อยู่ในไทย ได้ลงทะเบียนที่สถานทูตเมียนมาเพื่อเดินทางกลับประเทศอย่างเป็นทางการจำนวน 25,000 กว่าคน และอาจจะมีเพิ่มอีก 5,000-6,000 คน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานต่างๆในประเทศไทยปิดกิจการหรือลดจำนวนคนงานลง ทำให้แรงงานชาวเมียนมาร์หลายคนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ จึงตัดสินใจเดินทางกลับเมียนมาร์ แต่ทั้งนี้ยังติดที่พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้มีการปิดด่านชายแดน ข้อมูลจากนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้สั่งการให้จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงของสถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อาทิ แรงงานในกลุ่มก่อสร้าง แคมป์แรงงาน สภาพที่พักอาศัยที่แออัด ฯลฯ ด่วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในวางแผนการตรวจหาเชื้อโรค Covid-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกของรัฐบาล จากข้อมูลที่ได้รับแจ้ง พบว่า มีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงฯดังกล่าว จำนวน 181,263 คน โดย 10 จังหวัดแรกที่มีแรงงานต่างด้าวที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงฯมากที่สุด ได้แก่ 1. สมุทรปราการ จำนวน 27,556 คน 2. เชียงใหม่ จำนวน 26,045 คน 3. ชลบุรี จำนวน 14,534 คน 4. สมุทรสาคร จำนวน 13,530 คน 5. นครราชสีมา จำนวน 10,941 คน 6. ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 8,684 คน 7. ตาก จำนวน 7,301 คน 8. พังงา จำนวน 6,976 คน 9. ปัตตานี จำนวน 6,822 คน และ 10. ราชบุรี จำนวน 6,141 คน โดยประเภทกิจการ ที่คาดการณ์ว่ามีแรงงานต่างด้าวกลุ่มเสี่ยงฯ มากที่สุด ได้แก่ 1. กิจการก่อสร้าง 2.กิจการต่อเนื่องการเกษตร 3.การให้บริการต่างๆ 4.เกษตรและปศุสัตว์ 5.ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป 6.ต่อเนื่องประมง 7.ต่อเนื่องปศุสัตว์โรงฆ่าสัตว์ชำแหละ 8. ประมง 9. ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 10. จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เราเห็นว่า มาตรการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นแนวทางที่ดี ขณะเดียวกันเบื้องต้น การค้นหากลุ่มแรงงานต่างด้าวเชิงรุก จำเป็นต้องสนับสนุนอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นให้มีสุขอนามัย ป้องกันไม่ให้พวกเขาเป็นผู้ป่วยใหม่ เพราะต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการปิดกิจการเช่นกัน