ทีมข่าวคิดลึก
แม้ "คำถามพ่วง" สามารถผ่านการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาได้อย่างฉลุย แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ "โจทย์ใหญ่" ที่กำลังเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองให้ร้อนแรงระลอกใหม่ !โดยเฉพาะเมื่อมีวาระที่ว่าด้วยการเปิดทางให้กับ "นายกฯ คนนอก"นำไปสู่ความได้เปรียบ เสียเปรียบ ในทางการเมืองระหว่าง "ฝ่ายการเมือง"ที่หวั่นๆ ว่าจะเสียเก้าอี้ "นายกฯ คนที่30" ให้กับ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ยิ่งกลายเป็นการกดดันให้ฝ่ายการเมืองต้องหาทาง ต่อต้านและตอบโต้ และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ "แม่น้ำ" ในมือ คสช.ทุกสายที่จะมีส่วนในการผลักดันให้เกิด "นายกฯคนนอก"
ย้อนกลับไปพิจารณาถึงสาระของคำถามพ่วง ซึ่งระบุว่า " ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง5ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติไปเรียบร้อยแล้ว กรธ.จะต้องนำมาบรรจุเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันนี้19 ส.ค.คณะกรรมการ กรธ.และตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะต้องหารือร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันก่อนที่จะไปปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ และส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่า "คนนอก" จะเข้ามานั่งในเก้าอี้ "นายกฯคนที่30" ได้อย่างไรนั้น กลายเป็นกระแสที่ก่อให้เกิดชนวนแห่งความขัดแย้งและระแวงระวังกันไปทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองอย่างสองพรรคใหญ่ ทั้ง เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ยิ่งมีการโยนชื่อ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จาก "ไพบูลย์ นิติตะวัน"อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ที่เพิ่งประกาศเตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป และพร้อมที่จะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯคนนอก ภายใต้ความมั่นใจว่า ถึงอย่างไรบิ๊กตู่ จะต้องได้เป็นนายกฯ อย่างแน่นอน ขณะที่เรตติ้งของตัว
พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องถือว่าดีวันดีคืน เพราะอย่างที่สุดสามารถสร้างแรงจูงใจปลุกให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิในการทำประชามติ จนทำให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านฉลุย แม้ในความเป็นจริงแล้วการเคลื่อนไหวของไพบูลย์ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพียงต้องการช่วงชิงแต้มให้กับตนเองเท่านั้น เพราะหลายคนเชื่อว่า พรรคประชาชนปฏิรูป ย่อมไม่ใช่ "ตัวเลือก"ของ คสช. หากแต่จะเป็นการเล่นผ่านพรรคการเมืองอื่นมากกว่า ยิ่งไพบูลย์เปิดไต๋จงใจดึงพล.อ.ประยุทธ์ ให้เข้ามาร่วมเช่นนี้ ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. มากเท่านั้น
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยนั้น แน่นอนว่าในยามนี้ย่อมไม่ได้เผชิญหน้ากับการถูก "เซตซีโร"ด้วยข้อเสนอจากสภาปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) เท่านั้น แต่การที่โยนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็น "แคนดิเดต" นายกฯ คนที่ 30 ในยามที่คะแนนความเชื่อมั่นของพรรคการเมืองนั้นดิ่งลงเหลือน้อยเต็มที ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสองพรรคใหญ่เข้าอย่างจัง เพราะแม้จะสามารถได้ที่นั่งส.ส.เข้าสภาได้มากที่สุดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเอื้อมไปถึงเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลได้อยู่ดี !