ทวี สุรฤทธิกุล
ฉากทัศน์สุดท้าย คือ “การทำตามหน้าที่เป็นการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์”
การปกครองตั้งยุคโบราณเป็นไปเพื่อ “ผู้นำ” และ “ชนชั้นนำ” เป็นสำคัญ จนเมื่อเกิดแนวคิดประชาธิปไตยขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใครที่จะคิดปกครองบ้านเมืองจึงได้หันมามอง “เห็นหัว” ประชาชน แต่กระนั้นผู้ปกครองก็ยังเป็นการทำตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย อันมีลำดับชั้นต่างๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศสูงสุดนั้นลงมา อย่างไรก็ตามพวกเผด็จการก็คือพวกที่ปกครองโดยใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน รวมทั้งการอ้างประชาชนเพื่อรองรับความชอบธรรมนั้นด้วย (ว่าที่ต้องเป็นเผด็จการก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนนั่นแหละ) แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นพวกประชาธิปไตยหรือพวกเผด็จการ ประชาชนก็รู้เช่นเห็นชาติจนหมดสิ้นว่า “ใครมีอำนาจเขาก็ใช้อำนาจนั้นปกครองเพื่อพวกเขาเท่านั้นเอง”
ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศจำเป็นประกาศใช้ “อำนาจพิเศษ” มากน้อยต่างกันไป แต่อำนาจพิเศษเหล่านั้นก็อาจจะได้ผลไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ดังจะเห็นได้จากในประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ประเทศเผด็จการดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก “ภาวะยอม” เพราะเกรงกลัวอำนาจพิเศษนั้น(ซึ่งเป็นปฏิกริยาที่เป็นปกติธรรมดาของประชาชนที่ถูกปกครองโดยเผด็จการมานานๆ) ทว่าก็มีบางประเทศที่เกิดจาก “อุปนิสัย” ของคนในชาตินั้น เช่น ความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น ความเคร่งครัดในการเคารพกฎหมายของคนเกาหลีใต้ รวมทั้งคนไทยที่มีอุปนิสัยอ่อนน้อมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็ทำให้รัฐบาลค่อนข้างจะเบาใจ แม้ว่าการกระทำของรัฐบาลบางอย่างก็สร้างความรู้สึก “ไม่เท่าเทียมกัน” แต่คนไทยก็มีความเมตตาอารี ยินยอมให้อภัยในภาวะวิกฤตินี้ไปก่อน (มีบางคนวิเคราะห์ว่า หลังวิกฤติโควิดที่อาจะมีวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา รวมถึงวิกฤติการเมืองที่กำลังก่อเค้าอยู่ในเวลนี้ อาจจะส่งผลถึงการแสดงฝีมือในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ภายใต้วิกฤติเหล่านั้นที่ไม่ได้ “ตรงไปตรงมา” เหมือนกับการแก้ไขวิกฤติโควิด)
ภายหลังวิกฤติโควิด เราอาจจะได้เห็น “การเมืองวิถีใหม่” (Political New Normal) ที่อำนาจบังคับของผู้ปกครองจะมีความสำคัญน้อยกว่า “ความยินยอมพร้อมใจ” ของประชาชน แปลความอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ความยินยอมพร้อมใจของประชาชนนั้นคืออำนาจและความชอบธรรม” ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การอ้างกฎหมายหรือความเป็นตัวแทนประชาชนว่าเป็นความชอบธรรม ที่ผู้ปกครองในระบอบเดิม(ทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ)ได้กล่าวอ้างมาโดยตลอด
ในวิกฤติโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นว่า อำนาจรัฐเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นแค่ “เครื่องมือ” ของการแก้ไขปัญหา ตัวผู้บริหารในฝ่ายอำนาจรัฐซึ่งก็คือนายกรัฐมนตีและรัฐบาลนั้นก็เป็นแค่ “อุปกรณ์” ที่สาธารณชนหยิบยืมมาใช้ประกอบกันเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้วิกฤตินี้เท่านั้น อธิบายโดยยกตัวอย่างของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะพบว่าเมื่อวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้น รัฐบาลก็ดูงุ่มง่าม “ทำอะไรไม่เป็น” โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงสาธารณสุขก็เหมือนจะอยู่ในคอนโทรลของบรรดาผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขเกือบทั้งหมด หรืออย่างรัฐมนตรีพาณิชย์ที่ดูบกพร่องทางจริยธรรมที่ไม่สามารถจัดการกับความขาดแคลนและการโกงกินเรื่องหน้ากากอนามัยและข้าวของอื่นๆ ได้ แล้วพอมาดูที่ผู้บริหารสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรีก็ดูเหมือนจะขาดความมั่นใจและความเด็ดขาดไปอย่างมาก จนได้คณะหมอและผูเชี่ยวชาญต่างๆ มาช่วย ดังนั้รนสายตาประชาชนวิกฤติครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นไปได้ด้วยฝีมือของรัฐบาล แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบรรดา “มืออาชีพ” ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ประชาชน” ผู้ให้ความยินยอมพร้อมใจ นั่นก็คือโควิด-19 ได้ลดระดับความสำคัญของคณะผู้ปกครองแบบเดิม ทั้งแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ แล้วเพิ่มความสำคัญของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการระดมกันสู้วิกฤติจนประสบความสำเร็จ
ถ้าระบบการปกครองที่ประกอบกันเข้าด้วยความร่วมมือของทุกๆ ภาคส่วนนี้มีความต่อเนื่องต่อไป ในอนาคตความจำเป็นที่จะต้องมี “รัฐ” และ “รัฐบาล” ก็อาจจะเปลี่ยนไป รัฐและรัฐบาลอาจจะเป็นแค่ “สัญลักษณ์” อย่างหนึ่งในกระบวนการปกครองแบบใหม่นั้น เช่น เป็นสัญลักษณ์ของ “การนำ” เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการรับรองความชอบธรรมในการใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบร่วมกันในสังคม (จะเห็นว่าแนวคิดนี้จะเป็นตรงกันข้ามกับการปกครองในรูปแบบเดิม ที่ผู้ปกครองใช้ประชาชนให้มารับรองความชอบธรรมในการใชอำนาจต่างๆ) นั่นก็คือประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง หรือ “ประชาธิปไตยโดยประชาชน” ได้สถาปนาขึ้นแล้ว
กล่าวง่ายๆ ก็คือ ในระบอบนี้ประชาชนโดยตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ (คำว่า “ตัวแทนของภาคส่วน” มีความหมายถึงการที่ประชาชนมีการรวมกลุ่มกัน แล้วคัดสรรอาสาสมัครหรือผู้แทนในกลุ่มของตนให้เข้าไปทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐภายใต้ “ฉันทานุมัติ” หรือความยินยอมพร้อมกันของทุกคนในกลุ่ม ซึ่งมีความแตกต่างจากคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ที่เคยใช้กันมา ที่หมายถึงผู้ที่ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่ออ้างสิทธิในการเป็นตัวแทนประชาชน ด้วยการวัดที่คะแนนของผู้เลือกซึ่งไม่ได้แสดงถึงความเป็นตัวแทนโดยมวลรวมของกลุ่มประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น) จะมาทำหน้าที่แทนรัฐสภาและรัฐบาลในระบอบเดิม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เป้าหมาย” ของการทำงาน ที่จะเปลี่ยนจากการบังคับสั่งการจากกลุ่มผู้มีอำนาจ (ในระบอบเผด็จการคือคณะนักรัฐประหาร และในระบอบประชาธิปไตยคือคณะนักเลือกตั้ง) มาสู่การตัดสินใจร่วม (Mutual Decision Making) โดยตัวแทนของภาคส่วนทั้งหลาย ซึ่งก็อาจจะต้องมีการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อนำไปสู่กระบวนการดังกล่าวนั้น ซึ่งก็คือพลิกโฉมจากการปกครองแบบ “เพื่อกลุ่มผู้ปกครอง” มาสู่ “ประชาชนทุกคน” นั่นเอง
ต้องขอบคุณโควิด-19 ในการพลิกโฉมการเมืองในครั้งนี้