เสือตัวที่ 6 ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองปลายด้ามขวานของไทย ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐของขบวนการนี้อย่างแน่วแน่ โดยยึดมั่นในแนวคิดสุดโต่ง เหนียวแน่นตลอดมา โดยอาศัยสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงง่ายต่อการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความเห็นต่างกับคนส่วนใหญ่ของรัฐอย่างได้ผลตลอดมา จากข้อมูลพบว่า สภาพแวดล้อมพื้นที่ จชต.นั้น มีหลากหลายมิติที่สามารถนำสู่เงื่อนไขในการปลุกระดมผลิตแนวร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่สิ้นสุด โดยหากวิเคราะห์ให้เห็นเป็นรายด้าน จะพบว่า 1.สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โครงสร้างด้านเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม การทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมันและสวนผลไม้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบอาชีพทำการประมงในเขตที่ติดกับฝั่งทะเลอ่าวไทยและน่านน้ำสากล และความยากจนเหล่านี้ที่เป็นเงื่อนไขให้นักปลุกระดมของขบวนการแห่งนี้ นำมาสร้างความแปลกแยกจากรัฐได้ไม่ยาก 2.สภาพแวดล้อมด้านสังคมและจิตวิทยา พบว่า สภาพโครงสร้างทางสังคมและจิตวิทยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะพหุวัฒนธรรม ที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่น ทั้งด้านภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณี ที่สำคัญคือความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้ พยายามนำความแตกต่างเหล่านี้ เป็นประเด็นแอบอ้าง ยุแหย่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในพื้นที่กับคนของรัฐโดยทั่วไป สร้างเงื่อนไขในการปฏิบัติการทุกรูปแบบที่สามารถทำได้ เพื่อแบ่งแยกการปกครอง โดยมีสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่รวมกันหนาแน่นเป็นกลุ่มๆ ในรูปแบบชนบททั่วไปที่มีลักษณะเป็นกลุ่มบ้าน ทำให้มีโอกาสในการสร้างอัตลักษณ์ผ่านวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามหลักปฏิบัติและหลักศรัทธาตามความเชื่อทางศาสนา มุ่งทำให้เชื่อผ่านวิธีคิดอันเป็นพื้นฐานเดิม คือการเชื่อฟังผู้นำศาสนา และมีมัสยิดและร้านน้ำชาเป็นแหล่งพบปะสำคัญ หากเป็นชุมชนที่จัดตั้งแล้ว ย่อมเกื้อกูลต่อการดำเนินการของฝ่ายขบวนการและแนวร่วม ใช้เป็นที่หลบซ่อนก่อนหรือหลังก่อเหตุอำพรางหรือใช้มวลชนขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างได้ผล โดยมีประชาชนในพื้นที่ที่เป็นประชาชนในชนบท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 85 นอกนั้นเป็นชาวไทยนับถือศาสนาพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม สภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ชนบทและในตัวเมืองของจังหวัดชายแดนใต้ จึงไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือการนิยมรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน โดยความผูกพัน ยึดมั่นกับความเชื่อทางศาสนาเป็นฐานคิดสำคัญในการหลอมรวมผู้คนในท้องถิ่นอย่างมีพลัง ทั้งยังเป็นการยากที่คนนอกพื้นที่ โดยเฉพาะคนของรัฐ จะสามารถแทรกตัวเข้าไปในกลุ่มคนเหล่านั้นได้ 3. สภาพแวดล้อมทางด้านการศึกษา พบว่า ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นชาวที่นับถือศาสนาอิสลาม นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและปอเนาะ มากกว่าที่จะศึกษาในโรงเรียนของรัฐ แม้ว่าโรงเรียนของรัฐเหล่านั้น จะมีการเรียนการสอนควบคู่ทั้งสายสามัญและสายศาสนาแล้วก็ตาม หากแต่คนในพื้นที่เกือบทั้งหมด ยังคงเชื่อมั่นในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามากกว่า ทั้งเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษา เพราะต่างมั่นใจในการสอนสายศาสนาของครูสอนศาสนาของโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนของรัฐเป็นสำคัญ ทั้งยังสะดวกในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เนื่องจากการที่โรงเรียนเอกชนเหล่านั้น มีความคล่องตัวในการว่าจ้างรถรับ-ส่งเด็กนักเรียนไปกลับโดยรับจากหน้าบ้าน ในขณะที่โรงเรียนของรัฐ กลับมีความยากลำบากในการงบประมาณและการจัดรถไปรับ-ส่งเด็กนักเรียนด้วยข้อจำกัดในระบบราชการ นอกจากนั้นแล้ว การศึกษาในระบบโรงเรียนปกติแล้ว ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เด็กเกือบทั้งหมด จะต้องเข้ารับการศึกษาความรู้พื้นฐานของศาสนาอิสลาม ภาษามลายู (อักษรยาวีและอักษรรูมี) และภาษาอาหรับเบื้องต้น ณ ศูนย์การอบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) กิจกรรมทางด้านการศึกษาในสถานศึกษาสอนศาสนาดังกล่าว จึงอาจเป็นช่องทางให้นักจัดตั้งของขบวนการนี้ เข้ามาแสวงประโยชน์ในการขยายมวลชนและเป็นแหล่งบ่มเพาะโดยอาศัยผลทางจิตวิทยาวัยเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น จิตวิทยาวัยเจริญพันธุ์ (พ่อ/แม่/ผู้ปกครอง) และจิตวิทยาต่อชุมชน เพื่อสร้างผลการยอมรับ ตลอดจนการแปรสภาพให้เป็นเครื่องมือและเป็นเกราะในการป้องกันให้กับสมาชิกแนวร่วมของขบวนการ ในขณะที่สถานศึกษาของภาครัฐกลับเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายขบวนการ ผ่านกองกำลังติดอาวุธ มุ่งทำลายล้างและบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ด้ายการเผาทำลายสถานศึกษา ตลอดจนมุ่งต่อชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ ในขณะที่ขีดความสามารถของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากรัฐ ในระดับยุทธศาสตร์ คือการสร้างมวลชนเป็นพลังอำนาจต่อรองทางการเมือง ด้วยกลยุทธ์อัตลักษณ์ที่แตกต่าง ปลุกระดมกระแสอิสลามเพื่อการเป็นรัฐเอกราช ควบคู่กับการปฏิบัติการด้วยอาวุธจากกลุ่มคนนิยมความรุนแรงของขบวนการ เพื่อมุ่งสร้างสภาวะสงครามประชาชน ด้วยเงื่อนไขประชาชาติและขยายไปสู่สงครามศาสนาในที่สุด ด้วยกลยุทธ์บิดเบือนหลักการทำสงครามญิฮาดตามหลักศาสนา ให้เป็นเหตุของความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ อันเป็นมูลเหตุแห่งสงคราม ซึ่งขบวนการหวังจะให้เข้าเงื่อนไขของการกำหนดใจตนเอง (RSD) ตามเงื่อนไขของสหประชาชาติในที่สุด การต่อสู้ของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จึงยังคงเต็มไปด้วยความหวังและมุ่งมั่นต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่พวกเขาต้องการ นั่นคือ อิสระในการปกครองกันเอง เหล่านี้คือยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ในศึกครั้งนี้ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างทรงพลังยิ่ง