ความวิตกกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกสองในประเทศจีน โดยเฉพาะการพบผู้ป่วยใหม่ในเมืองอู่ฮั่น จุดกำเนิดที่เกิดเหตุของไวรัสโควิด-19 ที่เคยเป็นศูนย์กลางการระบาดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วจำนวน 6 ราย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองอู่ฮั่นถูกปลด ในขณะที่ทางการเมืองวางแผนตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทั่วทุกพื้นที่ของเมืองอู่ฮั่นเป็นเวลา 10 วัน เพื่อประเมินว่าโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในเมืองอู่ฮั่นหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับท้องถิ่นทุกอำเภอจัดทำรายละเอียดของแผนตรวจคัดกรองประชาชน เพื่อนำเสนอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอู่ฮั่นพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เมืองอู่ฮั่นไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 มากว่า 1 เดือน หลังจากเมื่อวันที่ 8 เมษายนรัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เปิดเมืองอู่ฮั่น อนุญาตให้ห้างร้าน โรงเรียนและระบบคมนาคม เปิดทำการตามปกติ หลังล็อกดาวน์ ปิดระบบคมนาคม ขอให้ประชาชนอยู่บ้านมาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม
ขณะที่เกาหลีใต้เอง ต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดแบบ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” อีกครั้ง จากหนุ่มป่วยโควิด-19 ที่ตระเวนเที่ยวผับย่านดังอิแทวอน ในกรุงโซลถึง 5 แห่ง จนพบผู้ติดเชื้อจากกรณีนี้ถึง 101 คน
น่าจับตาว่ากรณีนี้ จะมีผลต่อการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอปลดจีนกับเกาหลีใต้ออกจากประเทศเฝ้าระวังเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. หรือไม่
อีกด้านหนึ่ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า “เราสร้างกำแพงล้อมรอบประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันยังมีน้ำท่วมอยู่นอกบ้าน เราวิดน้ำในบ้านเราจนแห้ง แต่เป็นการยากที่จะไม่ให้มีรอยรั่ว แต่ถ้ามีรูรั่วแล้วเราวิดน้ำออกทัน ก็เป็นปัญหา มาตรการในการป้องกันของเราก็ต้องเข้มแข็ง
ในช่วงฤดูฝนจะเป็นฤดูกาล โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าดูจากไข้หวัดใหญ่จะระบาดในช่วงฤดูฝน และการระบาดจะเริ่มจากที่โรงเรียน บางโรงเรียนถึงกับต้องปิดเรียน
มาตรการการป้องกันการกำหนดระยะห่างของบุคคล physical distancing การล้างมือ การใช้แอลกอฮอล์เช็ดถูมือ การกินร้อน การหลีกเลี่ยงเข้าชุมชนคนหมู่มาก มาตรการทุกอย่าง ต้องเข้มข้น ทุกคนต้องช่วยกัน รอระยะเวลาที่เรามียารักษาที่ดี หรือมีวัคซีนในการป้องกัน”
ขณะที่นางมาร์กาเร็ท แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่าการทดสอบยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันต่างๆทั่วโลก ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ในบางกรณีพบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความรุนแรง หรือลดระยะเวลาของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี นางแฮร์ริสยอมรับว่า WHO ยังไม่พบยาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย แม้เราจะได้กลับมายืนอยู่ในตัวเลข “0” (ข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. หลังการแพร่ระบาดนานกว่า 3 เดือน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “สงครามจบแล้ว”