ทีมข่าวคิดลึก
ท่าทีของ "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งล่าสุดต่อบทบาทและความเป็นไปของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งพบว่า เบาลงมากกว่าหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา แถมรอบนี้ยังออกไปให้กำลังใจมากกว่าเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน
จนดูเป็นภาพที่สวนทางกับปฏิกิริยาจากพรรคเพื่อไทย ที่ใช้วิกฤติของรัฐบาลในช่วงขาลง เปิดฉากถล่มการบริหารงานที่ผิดพลาดล้มเหลวในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการพุ่งเป้าหมายการโจมตีไปยังประเด็นด้านเศรษฐกิจ บวกกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ระบาดไปทั่ว แม้วันนี้จะไม่มี "นักการเมือง" อยู่ในอำนาจแล้วก็ตาม
ย้อนกลับมาที่ พล.อ.ชวลิต ซึ่งรอบนี้นอกจากจะไม่ร่วมถล่ม คสช.และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันเอาไว้ ตั้งแต่แว่วว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว" จะเปิดบ้าน เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ครบรอบปีที่ 85 ณ บ้านพักซอยปิ่นปราภาคม ย่านนนทบุรี เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์
โดยกำลังใจที่ "รุ่นพี่" อย่าง พล.อ.ชวลิต มอบให้ "รุ่นน้อง" อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นั้นอาจทำให้ "กองเชียร์"ผิดหวังกันอยู่บ้างแล้ว อีกด้านหนึ่งอาจเป็นการสะท้อนท่าที จากนักการเมืองซึ่งยังโคจรอยู่รอบนอกของ คสช. ว่าวันนี้ รัฐบาลและ คสช. ยังมีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านผสมปนเปกันไป
ประเด็นที่บิ๊กจิ๋ว ระบุถึงความเชื่อมั่น "เชื่อมือ" ว่า บิ๊กตู่ จะสามารถผลักดันให้ "การปรองดอง" เกิดขึ้นได้สำเร็จนั้น อาจช่วยทำให้บรรยากาศทางการเมือง ลดความร้อนแรงลงไปได้ส่วนหนึ่งแม้หลายฝ่ายอาจจะบอกว่า วันนี้ พ่อใหญ่จิ๋ว อายุอานามมากถึง 85 ปีก็ตาม แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าท่าทีของ พล.อ.ชวลิต แม้ไม่เพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันไปยัง คสช.จนเกิดประเด็นที่ว่า "ทหารชนทหาร"อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดองนั้น น่าสนใจและต้องจับตาประเมินสถานการณ์ชนิดที่เรียกว่า "ช็อตต่อช็อต" เพราะแม้รัฐบาลชุดนี้ จะมีคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อผลักดันงานด้านการสร้างความปรองดองโดยเฉพาะก็ตาม หรือจะมีการพูดถึงการทำสัตยาบัน ทำข้อตกลงเพื่อให้นักการเมือง "สงบศึก" ก่อนถึงวันลงสนามเลือกตั้งก็ตาม
แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้ภารกิจการสร้างความปรองดองนั้นอาจไม่สามารถกำหนดได้ด้วย "ข้อตกลง"บนหลักการเท่านั้น หากแต่อาจเป็น "ข้อตกลง" ที่ฝ่ายการเมือง ต้อง "ยอมรับ"และต้องรู้ดีว่า "ใคร" จะได้รับบัตรเชิญให้เข้าร่วมในการปรองดอง !
ภารกิจการสร้างความปรองดองนั้นอาจไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด หรือเดินเกมกันทั้งกระดาน หรือดึงนักการเมืองให้ยินยอมลงนามทำข้อตกลงเท่านั้น หากแต่การรุกในพื้นที่เป้าหมาย กลับเป็นประเด็นที่สำคัญเหนืออื่นใด ทั้งการเลือกส่งบัตรเชิญปรองดอง ให้กับบางพรรคการเมือง แต่โดดเดี่ยว บางพรรคที่ยังยืนกรานยืนยัน ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช.
ขณะเดียวกันการเลือกเข้าควบคุมบางพรรคผ่าน "ตัวเล่น" ระดับคีย์แมนและให้ทำหน้าที่เป็นเสมือน "ตัวกลาง"ประสานระหว่าง คสช.กับฝ่ายการเมืองอาจเป็นเกมที่ถูกหยิบเอามาเล่น เพื่อให้"ผลลัพธ์" ที่คุ้มค่าแน่นอนว่ารูปแบบการเล่นของคสช. ก่อนการเลือกตั้งนั้นไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็นเกมที่ต้องการสืบทอดอำนาจหรือต้องการกินรวบในทุกบริบทการเมืองก็ตาม แต่ว่ากันว่าเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับ คสช.อาจมีเพียงข้อเดียวนั่นคือทำอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่เสียของ !