แสงไทย เค้าภูไทย
การลุกฮือของพยาบาลทั่วประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุเป็นข้าราชการประจำ กำลังเป็นเชื้อประทุให้ลูกจ้างชั่วคราวอื่นๆเอาแบบอย่างในสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายลดจำนวนข้าราชการพลเรือนลง เป้าหมายให้ต่ำกว่า 2 ล้านคนจาก 2.19 ล้านคน ด้วยเหตุผลเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ติดลบในงบประมาณปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรรัฐมีสัดส่วนถึง 30% ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ยังไม่รวมรายจ่ายบุคลากรด้านทหาร ตำรวจและกำลังพลอื่นๆ
รายจ่ายตามสิทธิข้าราชการนอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว มีมากมาย เช่นค่าตอบแทนต่างๆ ค่าฝ่าอันตรายกว่าปกติ ค่าเช่าบ้านสำหรับผู้ที่ย้ายไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ เบี้ยกันดาร ค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการชั่วคราว เดินทางไปฝึกอบรม เงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของตนเองและบิดามารดา เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ฯลฯ ค่าใช้จ่ายบางรายการใช้กับข้าราชการประจำและลูกจ้างชั่วคราวเท่าเทียมกันแต่ที่จะไม่เท่ากันก็คือ เงินบำเหน็จบำนาญ ที่ข้าราชการประจำจะได้รับหลังเกษียณอายุราชการ ข้าราชการบำนาญที่ได้รับตามปกติและครบอายุบำนาญ 25 ปี ที่อายุ 70 ปีแต่ไม่ถึง 80 ปี ได้ 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 80 ปีแต่ไม่ถึง 90 ปีได้ 5,000 บาท 90 ปีขึ้นไปได้ 6,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีเงินที่จ่ายยิบ จ่ายย่อยอีกหลายรายการ ที่มาสมทบกับเงินบำเหน็จ บำนาญ เช่นเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชยและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆเงินบำเหน็จบำนาญเหล่านี้ สมัยก่อนผู้รับไปมักจะไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์งอกงเงย บางรายถึงกับเอาใส่กระปุกฝังดิน แต่สมัยนี้ มีธนาคารให้ฝากกินดอกเบี้ย มีกองทุนให้ลงทุนได้ผลตอบแทน มีตลาดหุ้นให้ซื้อหุ้นกินเงินปันผลหรือใครแก่กล้าเหนือความชรา ก็ซื้อ-ขายรายวัน รายสัปดาห์ ฯลฯเงินบำเหน็จ บำนาญและค่าตอบแทนต่างๆเหล่านี้ หมุนเข้ามาในระบบกว่า 60% นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวไมได้หายไปไหน ไม่ว่าจะเล่นหุ้นเจ๊ง หวยใต้ดินกิน เงินพวกนี้ก็หมุนเวียนอยู่ในตลาดทุกเดือน
ตั้งแต่ยุคทักษิณมาจนถึงอภิสิทธิและยิ่งลักษณ์หรือแม้แต่คสช. รัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศมาตลอดเพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออก แต่เมื่อประชาชนไม่มีรายได้มากพอจะเหลือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายจำเป็นในการยังชีพ รัฐบาลก็ต้องหามาตรการใหม่ๆเข้ามาเสริมทำตัวเป็นหมูอ้วน ให้นมลูกหมูให้อ้วนขึ้นมาให้ได้ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี มีบัตรทอง มีเงินช่วยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท เบี้ยคนชรา เงินช่วยคนจน มีการคืนภาษี ลดหย่อนภาษี มีการโปรยเงินแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่ รับจำนำข้าว ประกันราคาผลผลิตเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด ฯลฯ
เป็นความพยายามที่จะทำให้คนไทยมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งด้านลดรายจ่าย ทั้งด้านเพิ่มเงินได้เพื่อที่คนไทยจะมีเงินได้พึงจ่าย (disposable income) คือเหลือเงินส่วนที่เกินจากรายจ่ายจำเป็นมากขึ้น จะได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
โจทย์ใหญ่ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลต้องแก้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกในจีดีพีที่มีสัดส่วนถึงกว่า 70% ให้เหลือต่ำกว่า 60% (เบื้องต้น)โดย 40% ในจีดีพีมาจากการใช้จ่ายของประชาชน
โจทย์ข้อย่อย 1.1. ที่หินที่สุดก็คือ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะมีรายได้สูงขึ้น(จากการจ้างงาน จากการทำมาค้าขาย ไม่ใช่จากการขายยาเสพติด ) ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะประชาชน ข้าราชการ ลูกจ้างเอกชนฯลฯ กับผู้บริโภคคือคนคนเดียวกัน
โจทย์ข้อย่อย 1.2. การจ้างงานเพิ่มหมายถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกวันนี้มีแต่เมกะโปรเจ็คต์ด้านก่อสร้างของรัฐบาลเท่านั้นที่สร้างงานมากที่สุด แต่ก็เป็นงานสำหรับคนจบอาชีวะและแรงงานต่างด้าวคนจบปริญญาตรีตกงานกันเป็นแสนๆ สอบบรรจุครูแค่ไม่กี่พันอัตรา แต่มีคนมาสอบกันกว่าแสนคน
โจทย์ข้อย่อยที่ 1.3. ภาคเอกชนและต่างชาติยังไม่กล้าลงทุนในภาวะที่มีรัฐบาลทหาร เพราะตลาดโลกไม่ยอมรับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สหรัฐที่ไทยมีมูลค่าส่งออกในจีดีพีกว่า 11% ยังไม่เลิกเทียร์ 3 ยุโรปก็ยังไม่สามารถลงนาม FTA ได้ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้เคยมีมูลค่าส่งออกของไทยในจีดีพีกว่า 35%
คำถามในข้อนี้ก็คือ เงินทุนในตลาดหุ้น 1 ล้านล้านบาท นักลงทุนกอดเอาไว้นิ่งๆ ไม่ยอมลงทุนเพราะอะไร ? ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่ไม่มีใครในรัฐบาลนี้ตอบได้ คงจะต้องรอให้รัฐบาลหน้าตอบแทน
แต่ตอนนี้ทำอะไรๆที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้เสียก่อน เช่นบรรจุพยาบาลอัตราจ้าง ครูอัตราจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ฯลฯ เป็นข้าราชการประจำเป็นต้น คนไทยจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น มีการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
นักลงทุนก็กล้าลงทุน รัฐก็จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นหมุนกันไปหมุนกันมา เดี๋ยวเงินก็งอกเงยขึ้นมาเองรัฐบาลจะได้มีเงินไปซื้อเรือดำน้ำ เรือเหาะ รถถังยูเครนเพิ่มขึ้นอีกหลายลำ หลายคัน