เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ชัยชนะของนายมาครง ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส เป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ใช่แต่ที่ยุโรป แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก คนฝรั่งเศส เช่นเดียวกับคนทั่วโลกเบื่อหน่ายกับการเมืองแบบเดิมๆ พรรคการเมืองเดิมๆ สัญญาเดิมๆ แต่ทำไม่ได้ เวียนว่ายในวังวนน้ำเน่าของแนวทางแก้ปัญหาที่ล้มเหลว การฉ้อฉลกลโกงอำนาจและงบประมาณแบบไม่เห็นหัวประชาชนคนเสียภาษี
นายมาครงเคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจจนถึงปีที่แล้ว ลาออก และก่อตั้งขบวนการทางการเมืองชื่อว่า En Marche และเตรียมตัวสมัครเป็นประธานาธิบดีขณะที่อายุเพียง 39 ปี โดยแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองแบบเดิมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะไม่เคยสมัครรับเลือกตั้งใดๆ มาก่อน
แต่นายมาครง “ฟังเสียงประชาชน” ว่าพวกเขาต้องการอะไรจริงๆ และไม่ได้คิดเอาเอง แต่ส่งคนไปเคาะประตูบ้าน 300,000 ที่ๆ เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้คนต่างๆ ทั่วประเทศ และไม่ได้ไปแจกใบปลิว แต่ไปสัมภาษณ์เชิงลึก 25,000 คนๆ ละ 15 นาที แล้วเอาความคิดเห็นทั้งหมดมาประมวล
สิ่งที่เขานำเสนอในการหาเสียงจึงตอบสนอง “อารมณ์” (ความรู้สึกนึกคิด) ของผู้คนได้ดี อารมณ์ที่เครียดในบรรยากาศที่หดหู่ มองอะไรเลวร้ายไปหมด ทำให้ผู้คนเกิดความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เขาพบว่า จริงๆ แล้วคนทั่วไปไม่ได้ต้องการทางออกที่สุดขั้วแบบขวาจัดซ้ายจัด แต่ต้องการทางสายกลางที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากกว่า
ขบวนการทางการเมือง (ชื่อเต็มว่า La Republique En Marche สาธารณรัฐเดินหน้า) มีภาคีเครือข่ายพลเมืองกว้างขวางทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ก้าวข้ามพรมแดนเส้นแบ่งระหว่างเชื้อชาติ และความคิดคับแคบแบบชาตินิยมของฝ่ายขวาจัด ก่อนเลือกตั้งรอบสอง 2 วัน ถึงมีป้ายผ้าขนาดใหญ่ขึงใต้หอเอฟเฟลเขียนว่า “เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ” สามคำที่มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1789
อาสาสมัครของขบวนการทางการเมืองนี้มีคนรุ่นใหม่ ลูกหลานผู้อพยพ คนชั้นกลาง กรรมกร เกษตรกร และกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม นโยบายของนายมาครงไม่ได้เน้นที่คำสัญญาว่าจะให้ ว่าจะทำให้ แต่เน้นที่การ “สร้างโอกาส” ให้คนจน คนชั้นกลาง ผู้อพยพ มีมากขึ้นและเท่าเทียมกับคนอื่น
การก่อตั้งขวนการทางการเมืองของนายมาครงไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุโรป “ขบวนการ 5 ดาว” (M5S - Five Star Movement) ในอิตาลีกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่นั่น เช่นเดียวกัน Podemos (“เราทำได้”) ของสเปน ที่สืบทอดจิตวิญญาณของขบวนการ 15-M (หรือ 15 May 2011 ซึ่งมีการประท้วงแบบปักหลักครองพื้นที่ (occupy) ที่สเปนเป็นตัวอย่างให้ทำเช่นเดียวกันทั่วโลก) รวมทั้งบทเรียน Syriza ขบวนการอันทรงพลังทางการเมืองของกรีซ
ไม่กี่วันหลังจากได้รับเลือกตั้ง นายมาครงก็เปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้สมัครจากขบวนการ En Marche ของเขาเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 11 และ 18 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เป็นรายชื่อที่ทุกคนอยากรู้เพราะจนถึงวันนี้เขาไม่มีสมาชิกในสภาแม้แต่คนเดียว
จากทั้งหมดปรากฎว่า ร้อยละ 52 มาจากภาค “ประชาสังคม” (civil society) ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และอายุน้อยที่สุด 24 ปี มากที่สุด 72 ปี อายุเฉลี่ย 42 ปี ขณะที่บรรดาส.ส.ที่กำลังพ้นไปจากสภาอายุเฉลี่ย 60 ปี มีตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งผู้นำเกษตรกรจากสหกรณ์ ซึ่งเป็นภาคที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูง
มีคนขอลงสมัครเป็นส.ส.ถึง 19,000 คน ได้รับการคัดเลือกไปแล้วส่วนใหญ่ เหลือไว้จำนวนหนึ่ง คงรอพวกส.ส.เก่าจากพรรคอื่นที่ย้ายพรรคในระหว่างนี้ แต่พรรคใหม่อย่าง “เดินหน้า” (En Marche) ก็มีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าต้องการคนแบบไหนเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน
นายริชาร์ด แฟร์รังด์ เลขาธิการของ En Marche ประกาศว่า “นี่คือการกลับมาอย่างแท้จริงของพลเมืองสู่หัวใจของวิถีการเมือง” บทเรียนจากขบวนการทางการเมืองที่อิตาลีและสเปนคือ การประท้วงนั้นทำได้ง่าย แต่การแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ยาก แต่อย่างน้อยขบวนการทางการเมืองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พวกเขาต้องการการเมืองที่ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ไม่ใช่เพียงไปเลือกตั้ง
ขบวนการทั้งอีตาลี สเปน และฝรั่งเศสชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาของภาคประชาสังคม ที่จะต้องแสดงบทบาทสำคัญทางการเมือง อยู่ที่ว่า เมื่อได้อำนาจแล้วจะนำชีวิตใหม่มาสู่การเมืองได้อย่างไร
และจะตอบสนองความคาดหวังของคนฝรั่งเศสที่ต้องการไม่ใช่เพียง “การเปลี่ยนแปลง” ธรรมดา (change) แต่ต้องการ “การปฏิรูป” (transform) ที่แปลงโฉมหน้าของฝรั่งเศสเลยทีเดียว