แก้วกานต์ กองโชค วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการช่วยเหลือคนจน หรือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 5.4 ล้านคน โดยผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาท มีทั้งหมด 3.1 ล้านคน และผู้มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท มีจำนวน 2.3 ล้านคน รวมเป็นเงิน 12,750 ล้านบาท โดยกำหนดแจกเงินระหว่าง 1-30 ธ.ค.2559 แต่มีผู้มาลงทะเบียนไม่ครบ ตามจำนวนคนที่มีรายได้น้อยมากถึง 14 ล้านคนนั่นจึงทำให้รัฐบาลเปิดลงทะเบียน “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ โดยหมดเขตวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยนั้น พวกเขาอาจจะได้รับ           - บัตรประจำตัวผู้มีรายได้น้อย เป็นบัตรชิปการ์ดใช้รูดผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ หรือ อีดีซี ได้ และบัตรนี้ยังนำไปใช้เป็นส่วนลดหรือใช้รับสวัสดิการรัฐ เช่น ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มหรือลดสวัสดิการได้ด้วย            - การทำประกันชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันรายละ 99 บาทต่อปี คุ้มครอง 5-6 หมื่นบาท และจ่ายชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โครงการนี้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 โดย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสวัสดิการช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือมาตรการช่วยเหลือคนจนที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท จึงให้กระทรวงการคลังดำเนิน โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ             ใครมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท ให้ไปต่อคิวลงทะเบียนผ่าน 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย โดยกำหนดช่วงเวลาไว้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ช่วงระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559             ด้วยระยะเวลาเพียง 1 เดือน ที่ชักชวนให้ลงทะเบียน แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ลงแล้วจะได้อะไร ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.3 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านคน และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน แต่เมื่อหลังจากรัฐบาลประกาศ “แจกเงินฉุกเฉิน” 1.27 หมื่นล้านบาท หรือ “เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร” แก่ผู้มาลงทะเบียนข้างต้น ทำให้คนที่มีรายได้น้อยที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเริ่มอยากลงทะเบียนบ้าง นั่นจึงทำให้ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 เกิดขึ้นตามมา โดยกำหนดลงทะเบียนระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2560 – 15 พฤษภาคม 2560 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ประกอบด้วย 1. ต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปโดยต้องเกิดก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2542 2. ต้องเป็นคนว่างงานหรือมีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 1 แสนบาท 3. ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากธนาคารสลากออมสิน พันธบัตร และตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาท 4. ต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ กรณีที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) กรณีอยู่อย่างเดียวต้องเป็นบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ การอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ กรณีที่ดิน หากเพื่อการเกษตรต้องมีไม่เกิน 10 ไร่ หรือ กรณีเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องไม่เกิน 1 ไร่ ยอดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เมื่อสิ้นสุดการลงทะเบียนแล้วมีทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านราย นั่นทำให้กระทรวงการคลังเตรียมใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในการจัดสรรให้ผ็มีรายได้น้อย โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับได้แก่ บริการพื้นฐานรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี สวัสดิการเกี่ยวกับค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ส่วนลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้า รถทัวร์ระหว่างจังหวัด วงเงินใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ จะมีการพิจารณาให้แล้วเร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า หรือประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2560 คำถามคือ ทำไมต้องแจกเงิน ? ควรแจกปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างอื่นมากกว่าเงินหรือไม่ ? คำตอบอยู่ที่ผู้รับ และสวัสดิการโดยรวมของประเทศแล้วหละครับ !!!