ล่วงเข้าสู่ห้วงเวลาประวัติศาสตร์การเมืองเดือนพฤษภาคม ทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เหตุการณ์พฤษภาปี 2553 และการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะคสช. ยังคงอยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนาน 6 ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งในรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน
ในจังหวะที่วิกฤติโควิดไทยคลายลงนำไปสู่การคลายล็อกมาตรการต่างๆ พลวัตการเมืองไทยก็เริ่มขยับไปด้วย ด้วยบรรยากาศความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นสารกระตุ้น โดยเฉพาะสัญญาณการเมืองเรื่อง “ตามหาความจริง”ที่มีการยิงเลเซอร์ปรากฏตามสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมือง ก่อให้เกิดการตีความและเต็มไปด้วยนัย
คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล เป็นหัวหอกออกมาขยายผลในโลกโซเชียล จากวาทกรรมตามหาความจริงชี้เป้าไปที่เรื่องราวการสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ พุ่งเป้าโจมตีไปที่กองทัพ ปลุกความคับแค้นและเศร้าสลดจากบาดแผลการต่อสู้
แม้อานิสงส์โควิด จะส่งผลให้แผนการจัดงานรำลึก 10 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2553 ต้องล้มไป แต่วิถีใหม่ของการสื่อสารทางการเมือง ในยุคโควิด และยุคดิจิทัล แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป็นเขียนบทความรำลึกเหตุการณ์ผ่านโซเชียลแทน
กระนั้น ประเด็น “ตามหาความจริง” อาจถูกมองเป็นเพียงอีเวนต์การเมือง หรือการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่มีหลายฝ่ายจิตประหวัดว่าโฉมหน้าการเมืองไทยหลังโควิด แฟลชม็อบของนักศึกษาจะหวนคืนกลับมาเป็น “หอกข้างแคร่” รัฐบาลอีกครั้ง ด้วยขบวนการรุกไล่รัฐบาลนั้นเริ่มก่อหวอดขึ้นอีกหลังจากชิมลางจาก “ม็อบฟรอมโฮม”
ขณะที่มีฟืนชั้นดีจากปัญหาปากท้อง และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง อาจเป็นชนวนไปสู่สถานการณ์ลุกลามบานปลายได้
ในทางกลับกัน ปัญหาปากท้องและอาการหลอนจากความเสียหายของพิษภัยหลัง “ชัตดาวน์ประเทศไทย” ของกลุ่มกปปส. ประกอบกับเพิ่งผ่านการล็อกดาวน์ประเทศมาหมาดๆ จากพิษโควิด อาจเป็นสมการแปรผันต่อความรู้สึกร่วมของผู้คน ที่มีผลต่อการปลุกเร้าทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
“จากการศึกษาของคอป.พบว่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของปัญหา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่สั่งสมและนำมาสู่ความ รุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 นั้นแม้จะดูเสมือนว่าเป็นความขัดแย้ง ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แต่แท้จริงแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หยั่งรากลึกถึงปัญหาในระดับ โครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ และน าไปสู่ความหวาดระแวง ระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคมไทยต่อดุลยภาพที่มีอยู่เดิม ท าให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษา สถานะเดิม (Status Quo) ไว้ ความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวเมื่อผนวกกับสภาพปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Structures) ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในสังคม ความอ่อนแอของกลไกในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม และการใช้สื่อ เป็นเครื่องมือในการขยายผลความขัดแย้ง ทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน” (รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือคอป. กรกฎาคม 2553– กรกฎาคม 2555)
เราไม่อาจเพิกเฉยบทเรียนในอดีต หากแต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้การเมืองไทยเดินย่ำซ้ำรอยเดิม