ทีมข่าวคิดลึก เมื่อส่งสัญญาณให้การเมืองเดินหน้าต่อไปตามโรดแมป ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดหมุดหมายเอาไว้ สิ่งที่รัฐบาล และคสช. เองต้องหันกลับมาปรับกลยุทธ์ปิดทุกจุดอ่อน ทุกช่องโหว่ หากยังหวังที่จะเป็นฝ่ายกุมความเชื่อมั่น รักษาอำนาจให้อยู่ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ! ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจหนักหนากว่าเรื่องราวทางการเมือง ทั้งที่ถูกมองว่าวุ่นวายก็ตามที ปัญหาปากท้อง รายได้ของประชาชนที่หดตัว เศรษฐกิจฝืดเคือง กลายเป็นเรื่องร้อนๆ ที่รุมเร้าพล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปี 2559 แต่เมื่อสถานการณ์หลายด้านกำลังบีบรัด และกดดันประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุที่ต้องเจอกับภาวะปัญหาเศรษฐกิจ เริ่มก่อตัวชัดเจน อีกทั้งเสียงของประชาชนที่ร้องโอดครวญเรื่องของความเดือดร้อนดังระงม ไม่มีขาดตอน แน่นอนว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลและ คสช.เองได้พยายามประคับประคอง ควบคู่ไปกับการหาทางแก้ไขสถานการณ์มาโดยตลอด ทั้งการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือแม้แต่การใช้ข่าว "การปรับครม." ปรับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี ในกระทรวงด้านเศรษฐกิจ มาแล้วหลายครั้งหลายครา จนเกิดเป็นกระแสข่าวว่าด้วยเรื่องเก้าอี้ดนตรี ข่าวล่ามาแรง เริ่มขยับมาระลอกใหม่ว่าการปรับ ครม.อาจจะเกิดขึ้นในราวเดือน ส.ค.นี้ โดยเป้าหมายอยู่ที่เก้าอี้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเช่นเคย ทั้งที่ก่อนหน้านี้หากยังจำกันได้กระแสข่าวว่าการปรับ ครม.ที่มาแรงแซงทุกประเด็น เมื่อยามที่เกิดประเด็นการจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" จากประเทศจีน ของกองทัพเรือ ซึ่งทำเอา "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีและ เจ้ากระทรวงกลาโหม ถึงกับนั่งแทบไม่ติด เพราะข่าวการปรับ ครม. พุ่งเป้าหมายไปยัง พล.อ.ประวิตร ว่ามีสิทธิจะโดนปรับออกจาก ครม. ยิ่งเมื่อพล.อ.ประวิตร ไม่เข้าประชุม ครม.ยิ่งกลายเป็นการกระพือข่าวลือให้เข้าใกล้ "ความจริง" มากขึ้นเท่านั้น !อย่างไรก็ดีเมื่อมองกลับมาที่สถานการณ์วันนี้ของรัฐบาล และคสช. เมื่อจังหวะเข้าโค้งสุดท้าย จะพบว่ามีการใช้กลยุทธ์ทั้งเชิงรุกและตั้งรับสลับสับเปลี่ยนกัน บางคราวข่าวลือกลายเป็น "เป้าหลอก" ที่ล่อให้สื่อหลงไปตามกระแส ทว่าในขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าแท้จริงแล้ว เป็นฝีมือของ "คนใน" ที่เปิดฉากเขย่ากันเอง โดยไม่เกี่ยวกับ "ปัจจัยภายนอก" แต่อย่างใด จนถึงวันนี้ ชื่อของ พล.อ.ประวิตร ยังคงเป็นรัฐมนตรี นั่งประชุมครม.ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทุกวันอังคาร ชื่อนั้นยังไม่มีหลุดหายไปจาก ครม. หากแต่สิ่งที่แปรเปลี่ยนไปคือการที่บิ๊กป้อมเลือกที่จะเล่นบท "โลว์โปรไฟว์" มากขึ้น ลดการให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยเฉพาะเมื่อยามที่กระแสการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยังร้อนระอุ ว่ากันว่าการปรับบทบาทของพล.อ.ประวิตร ในระยะหลังๆ นั้นย่อมจะส่งผลดีต่อทั้งตัวเอง ไปจนถึงลดแรงกระแทกที่จะมีไปยัง ครม. ของพล.อ.ประยุทธ์ ในคราวเดียวกัน ขณะเดียวกันสำหรับข่าวปรับ ครม.ที่ว่ากันว่า อาจจะมีขึ้นภายในเดือน ส.ค.นี้สามารถเป็นไปได้ทั้ง "เรื่องจริง" จนถึง "ข่าวปล่อย" เพื่อกดดันกันเองเท่านั้นใช่หรือไม่ ?