สมบัติ ภู่กาญจน์ ในช่วงเวลาสามสิบปี (พ.ศ.2489 ถึง2519) อาจารย์คึกฤทธิ์ ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งในฐานะประชาชนคนไทย คนหนึ่ง และในฐานะคนทำงานด้าน 'สื่อ'อีกคนหนึ่ง ของประเทศไทย ? หลังจากแสดงความคิดเห็น ในฐานะผู้แทนราษฎรไทยครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2489 ที่ผมนำมาอ้างถึงไปแล้ว นักเรียนนอกหนุ่มใหญ่วัย 35 แถมยังมีคำว่า ม.ร.ว.นำหน้าชื่อ ก็ทำงานการเมืองเต็มที่อยู่สองปี ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร และเลิกเกี่ยวข้องกับกิจการด้านการเมืองทุกชนิด นับตั้งแต่ต้นปี2491 เป็นต้นมา เหตุผลในการลาออก เจ้าตัวประกาศแจ้งชัดว่า เพราะไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ในขณะนั้น ที่ไม่มีจุดยืนเพื่อประโยชน์ของประเทศหรือไม่เป็นตัวของตัวเองเท่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นความเห็นผ่านข้อเขียนบอกผู้คนหลังลาออก ซึ่งผลจากความ'ร้อนวิชา'นี้ อดีตนักการเมืองหนุ่มซึ่งเริ่มมีคนจับตามองผู้นี้ ก็กลายเป็นบุคคลธรรมดาผู้ตกงาน ความว่างจากงานการเมืองดังกล่าวนี้ทำให้เพื่อนพ้องนักหนังสือพิมพ์ทั้งยุและหนุน ให้คึกฤทธิ์เขียนหนังสือพิมพ์เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อไป ด้วยพรสวรรค์ทางด้านการเขียน ที่มีไม่น้อยไปกว่าการพูดอภิปรายปัญหาต่างๆในสภาฯ นักเขียนสมัครเล่นผู้ใช้นามจริงว่า 'คึกฤทธิ์ ปราโมช'(โดยไม่มี ม.ร.ว.นำหน้าชื่อ)ได้ผลิตงานเขียนหลายชิ้นขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ ทั้งบทวิจารณ์ การแสดงข้อคิดเห็นเรื่องสั้น เรื่องยาวหลายหลาก ในขณะที่บ้านเมืองก็มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในยุคที่สอง นับตั้งแต่ปี 2491 เรื่อยมา คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนนิยายอิงพงศาวดารจีน (ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้เสพสื่อในยุคนั้น) เรื่อง 'โจโฉ นายกตลอดกาล' ให้คนได้อ่าน ด้วยความคิดต่างในอีกแง่มุมหนึ่งสร้างศัพท์คำว่า 'พิบูลตลอดกาล' ให้ปรากฏเกิดขึ้นในสนามวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย การเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ออกจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีผู้มาจากวิชาชีพทหารรับได้ยาก นั่นเป็นสิ่งที่นักเขียนชื่อคึกฤทธิ์ตระหนักอยู่ และตระหนักตั้งแต่ครั้งเป็น ส.ส.จนกระทั่งลาออกมาแล้ว แต่การเขียนเรื่องให้เป็นนิยาย วิเคราะห์ตัวละคร และแสดงความเห็นผ่านบทบาทต่างๆอย่างแยบคายย่อมสามารถทำได้ โดยเฉพาะถ้าแล้วจะทำให้คนอ่านอ่านสนุก และคอยติดตามอ่าน ด้วยแล้วงานเช่นนี้คึกฤทธิ์ถนัดนักเพราะทำได้ และขยันที่จะทำด้วย องค์ประกอบทั้งหลายนี้ทำให้งานเขียนของ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นที่สนใจของคนอ่านมากขึ้นทุกวันๆ วิธีการนี้ ชี้ให้เห็นว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถึงเดินทางตรงไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักเดินอ้อมสักนิดแต่ให้มีคนติดตามได้ นั่นก็นับเป็นความสามารถในการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นให้เกิดประโยชน์ คึกฤทธิ์ ทำสิ่งเหล่านี้อย่างตั้งใจ และสนุกที่จะทำ อยู่ตลอดช่วงปี พ.ศ.2492 ต่อถึงต้นปี 2493 ก่อนที่งานพิธีถวายเพลิงพระศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในช่วงก่อนกลางปี 2493 จะเกิดขึ้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บวชถวายกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ห้าสิบวัน ก็สึกออกมาเปิดหนังสือพิมพ์ชื่อ 'สยามรัฐ' ขึ้น จากการตื๊อการชวนการบังคับของเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ชื่อสละ ลิขิตกุล เป็นหนังสือพิมพ์รายวันแนวการเมือง ขนาดบรอดชีตจำนวน 8 หน้า ขายราคา 50 สตางค์ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2493 อันเป็นวันที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันปรากฏขึ้นนี้ที่อีกมุมหนึ่งของโลก กองกำลังเกาหลีเหนือก็บุกข้ามเส้นเขตแดนเข้าโจมตีเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดสิ่งที่โลกเรียกว่า สงครามเกาหลี ขึ้นมาไม่นานนักหลังจากนั้น รัฐบาลไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรีชื่อจอมพลหลวงพิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปร่วมรบกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ใช้หนังสือพิมพ์ที่เกิดวันเดียวกับสงครามเกาหลี เป็นเครื่องมือในการบอกกล่าวสิ่งที่ควรรู้แก่ผู้คนและแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และทำงานอย่าง 'หนัก' ด้วยความ'คิด และลงมือทำ' ด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา คึกฤทธิ์ ปราโมช ย้ำบอกผู้อ่านอยู่เสมอว่า เขาเชื่อว่าการทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง มิใช่จะมีแค่ การเข้าไปนั่งอยู่ในสภาฯ(หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามที) หรือในคณะรัฐบาลเท่านั้น แต่การใช้ความรู้ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ นั่นก็เป็นสิ่งที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในการเริ่มต้นที่จะสร้างผลงานเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ คนทำต้องใช้ความสามารถ ใช้ความอุตสาหะ และใช้ความพยายามที่เกิดจากความคิด ความมีฝีมือ รวมทั้งความบริสุทธิ์ใจ สละ ลิขิตกุล เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ผู้ที่ชวนคึกฤทธิ์ มาออกสยามรัฐ เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ ไว้ว่า "เมื่อหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายได้แล้ว.......คุณชายต้องถูกบีบบังคับจากผม ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ให้เขียนเรื่องประจำวันหนึ่งๆ ถึง 3 เรื่อง คือเรื่องยาวประจำ เรื่องสามก๊กฉบับนายทุน ตอนโจโฉนายกฯตลอดกาลเรื่องหนึ่ง บทบรรณาธิการอีกเรื่องหนึ่งและคอลัมน์ 'เก็บเล็กผสมน้อย'อีกเรื่องหนึ่งเป็นประจำทุกวัน.......ก่อนที่จะเปิดคอลัมน์ปัญหาประจำวันขึ้นอีก (ซึ่งเปิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม) คราวนี้ก็เป็น 4 เรื่อง ทุกวันๆ" คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น ด้วยการทำ 'สื่อ' ที่ผลิตโดยตนเอง และชาวคณะสยามรัฐ ด้วยการทำงานหนัก และสร้างผลงานสารพัดให้คนได้เห็น ได้ประจักษ์ และยอมรับ ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็บริหารประเทศต่อเนื่องอยู่บน Long Roadmap ในช่วงเวลาเดียวกัน คึกฤทธิ์ ทำหน้าที่สื่อ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และให้ความรู้ความคิดแก่คนไทย อยู่ตลอดระยะเวลาสิบปี โดยไม่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ต้องถูกจับกุมหรือห้ามเขียน แม้จะถูกคดีก็ต่อสู้กันไปตามกฎกติกาและชี้นำคนไทยให้มองปัญหาอย่างรอบด้านด้วยผลงานสารพัดชนิด สารพันรูปแบบ รวมทั้งการขยายภาพและสร้างปัญญาให้คนไทยได้เห็น 'ประโยชน์และความสำคัญ' ของการปกครองโดยมี 'สถาบันพระมหากษัตริย์' ในสังคมไทย คึกฤทธิ์ ทำ 'สื่อ' ด้วยการใช้ 'สมองและด้วยอารมณ์ขัน' - ซึ่งปัจจุบันนี้ สองสิ่งนี้ กำลังจะสูญพันธุ์จากสังคมสื่อไปทุกวันแล้วหรือไม่? ผมอยากฝากท่านผู้อ่านให้ช่วยกันคิดด้วย