ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
เรากำลังพูดถึงประเทศไทย 4.0 กันอยู่ แต่ญี่ปุ่นเขาผ่านพ้นมาแล้ว พูดกันแต่สังคม 5.0 ที่ชาวญี่ปุ่นมีแต่ผู้สูงอายุและสังคมจะดำรงชีวิตอยู่กับหุ่นยนต์กันแล้ว ขณะที่บ้านเราจะเป็น 4.0 ได้ กำลังคนของประเทศต้องพัฒนาให้เป็น 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ฉบับที่แล้วได้พูดถึงกำลังแรงงานของประเทศเกือบ 25 ล้านคน น่าจะต้องยกระดับคุณภาพให้เป็นแรงงาน 4.0 เพื่อให้มีทักษะและฝีมือแรงงานสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยหลุดพ้นจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ไร้ฝีมือ โดยหน่วยงานที่เป็นภารกิจ(Function) พึงต้องบูรณาการมาตรการและพัฒนาให้เกิดเอกภาพเน้นไปที่แรงงานทั้งประเทศ
หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนเริ่มตั้งแต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่ดูแลคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจ สังคมในบริบทภายในและบริบทโลกอย่างมีความสุข
กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจให้การศึกษาแก่เยาวชนระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เป็นทั้งคนเก่ง และคนดีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการสร้าง คนที่มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
กระทรวงแรงงานมีภารกิจ การจัดหางาน สวัสดิภาพแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วไปให้เกิดผลิตภาพแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง โดยเฉพาะรายได้ที่เป็นค่าแรงขั้นต่ำ และหลังจากได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ค่าจ้างที่เหมาะสม
กระทรวงมหาดไทยโดยกรมพัฒนาชุมชน มีภารกิจสร้างอาชีพและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการระดับรากหญ้าในภูมิภาค เช่น โอทอป หรือเอสเอ็มอีให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่เชิงพาณิชย์มีรายได้พอเพียง
กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สสว.ธนาคาร เอสเอ็มอี มีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่ start up, turn - around,regular และ strong ให้มีศักยภาพสามารถตั้งตัวและพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เติบโต และยั่งยืนในทุกๆ มิติ
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดมาตรฐานการปฏิบัติงานของอาชีพแต่ระดับ รวมถึงรับรองมาตรฐานแต่มิได้ยึดโยงกับรายได้ แบ่งเป็นแต่ละอาชีพมี 7 ระดับเทียบเท่ากับวุฒิการศึกษา ตั้งแต่ระดับ 1 เทียบเท่าประถมศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาเอกในระดับที่ 7
ปัจจุบันใช้เพียง 5 อันดับ เน้นระดับ 3 ปวช.ระดับ 4 ปวส. และระดับ 5 ปริญญาตรีก่อน
ที่ยกประเด็นภารกิจของหน่วยงานรัฐขึ้นมา ก็เพื่อให้สะท้อนว่าทุกองค์กรต่างทำหน้าที่พัฒนาคนด้วยกันเป็นเป้าหมายหลักเพียงแต่มิได้บูรณากันต่างคนต่างมีงบประมาณ ต่างคนต่างทำต่างมีตัวชี้วัดความสำเร็จของตนเอง แต่คงไม่มีตัวชี้วัดร่วมเพื่อให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ 4.0
ณ วันนี้ยุทธศาสตร์ชาติต้องการยกระดับแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องขับเคลื่อนโดยทรัพยากรมนุษย์ น่าจะมีแผนแม่บทในการพัฒนาร่วมกันในFunction ที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้เกิดเอกภาพในการพัฒนาอย่างเป็นระบบรองรับยุทธศาสตร์ชาติ และประเทศไทย 4.0