“สักวันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่แล้ว ไม่สามารถใช้ไปตลอดได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้” พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ระบุ
ในวันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะหมดอายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากที่ต่ออายุมาแล้วครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชกำหนดดังกล่าว กลับไปใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อแทน
โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ภายหลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมากว่า 1 เดือน เพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงขอความคิดเห็นว่าเห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกเพื่อเป็นแนวทางให้ ศบค.ตัดสินใจ
ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมือง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม ว่ารัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังคงพ.ร.กฉุกเฉินนี้ ศบค.ได้เตรียมผ่อนปรนในระยะที่ 2 โดยร่างที่จะนำมาพิจารณาในวันที่ 15 พฤษภาคม เตรียมผ่อนคลายให้กับ3 ประเภทกิจการและกิจกรรม ได้แก่
กลุ่มแรก ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ภายในอาคารสำนักงาน ข.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ลานโบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม ศูนย์พระเครื่อง สนามพระ และพระบูชา ค.ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ ง.ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และร้านทำเล็บ)
กลุ่มที่สอง เกี่ยวกับกิจกรรมออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่ ก.คลินิก เวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามและควบคุมน้ำหนัก ข.สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้งตามกติกาสากล เล่นเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค.สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) ง.สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
และกลุ่มสุดท้ายเป็นกิจกรรมอื่นๆ คือการประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป (ไม่เกิน 5 คน)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนที่จะมีการผ่อนปรนระยะที่ 2 ศบค.ควรออกคู่มือสำหรับการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และมอบหมายให้กลไกในจังหวัดต่างๆ พร้อมเครือข่ายชุมชนร่วมกัน ตรวจสอบความพร้อมของผู้ประกอบการและสถานที่ต่างๆ ที่เตรียมคลายล็อกระยะที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดระลอกสอง และหากพบปัญหาการไม่สามรถปฏิบัติตามได้ด้วยเหตุผลปัจจัยใด จะได้พิจารณาให้ปรับปรุงแก้ไข กระทั่งอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือให้สามารถดำเนินการได้โดยยึดหลักสาธารณสุข
กระนั้น ภายใต้บทเรียนของประเทศอื่น เมื่อคลายล็อกแล้วกลับมาระบาดรอบสอง การผ่อนปรนระยะที่ 2 และการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง บนพื้นฐานที่ยังไม่ไว้วางใจโควิด-19