แสงไทย เค้าภูไทย
การเยียวยาคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของไทยยังตกหล่น วุ่นวาย ลองดูตัวอย่างญี่ปุ่นกับเยอรมนีที่นอกจากประชาชนจะได้รับชดเชยทั่วถึง เพียงพอแล้ว ผู้ประกอบการยังอยู่ได้ด้วย
ญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลช่วยภาคเอกชนเต็มที่เพื่อรักษาสถานภาพ ไม่ให้ปิดงาน ปิดโรงงาน เลิกกิจการ เพื่อให้อยู่ได้ สามารถจ้างลูกจ้างแรงงานต่อเนื่องทั้งๆที่ต้องปิดโรงงานหรือธุรกิจ ช่วงรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์
ทั้งนี้เพราะเขาเข้าใจเอกชนดีว่า ได้รับผลกระทบรุนแรง บางรายเข้าขั้นล้มละลาย
มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลแบ่งออกเป็นส่วนๆหรือเฟสคือ
เฟสที่ 1 ดูแลด้านการจ้างงาน โดยขอร้องบริษัท ห้างร้าน โรงงานมิให้ปิดหรือเลิกกิจการ โดยรัฐจะหล่อเลี้ยงการเงินให้กิจการอยู่รอดตลอดช่วงวิกฤติ
และมีความพร้อมเปิดดำเนินการได้ทันทีที่มีการ reopen หรือปลดล็อกด้านต่างๆ
ในรูปแบบนี้ เยอรมนีก็ใช้กับวิสาหกิจของตน ทำให้มีบริษัทเปิดดำเนินการถึง 80% ในช่วงใช้มาตรการล็อคดาวน์
อีกด้านหนึ่ง รัฐเยียวยาครอบครัวและส่วนบุคคล
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณช่วยเหลือภาคครัวเรือน 20 ล้านล้านเยน
โดยแจกจ่ายให้ครัวเรือนละ 300,000 เยนต่อเดือน โดยครัวเรือนที่มีเด็ก จะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่เด็กแบเบาะจนถึงชั้นเรียนระดับ 9 (อายุ 15 ขวบ)หัวละ/เดือนละ 10,000-15,000 เยน
ส่วนคนทำงานที่จ้างตนเองหรือกิจการส่วนตัว หรือฟรีแลนซ์ จะได้รับชดเชยต่อหัวด้วยเช่นกัน
ผู้รับเงินช่วยเหลือ จะต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อเทศบาลเพื่อคัดกรองนำเสนอหน่วยงานคลังที่จะดำเนินการชดเชยต่อไป
ญี่ปุ่นมีมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิตอลสูงกว่าไทยมาก แต่กลับใช้ระบบตรวจสอบแบบ low-tech คือให้ส่วนท้องถิ่น คือเทศบาล เทียบกับบ้านเราก็พวกตำบล เทศบาล อำเภอ เขตฯลฯดูแลงานทะเบียน
เพราะหลักฐานเกี่ยวกับประชากร เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนราษฎร การเสียภาษีรูปแบบต่างๆล้วนมีอยู่ในระบบข้อมูลของหน่วยงานเหล่านั้น ไม่ต้องตรจสอบมากมาย
เฟสที่ 2 กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจนเติบโตในรูปตัววี (V-shaped)ใช้งบประมาณ 60 ล้านล้านเยน
ทั้งนี้ด้านผู้ประกอบการ รัฐพยายามรักษาสถานภาพการจ้างงาน มิให้ปิดกิจการหรือแม้ปิดกิจการ ก็ยังจ้างและจ่ายค่าจ้างเงินเดือนตามปกติอยู่ โดยรัฐจะช่วยเหลือทางการเงินในส่วนนี้ โดยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะได้รับรายละ/เดือนละ 2 ล้านเยน
ส่วนกิจการขนาดใหญ่ รัฐจะให้ธนาคารเพื่อการพัฒนา ( Development Bank of Japan ) ปล่อยกู้พิเศษเพิ่มจาก 2,000 ล้านเยนเป็น 5 ล้านล้านเยน
นอกจากนี้ ยังมีการลดหย่อนผ่อนปรน หรืองดเว้นภาษีให้อีกหลายด้าน รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เพื่อให้บริษัทห้างร้านสามารถยืนอยู่ได้ในภาวะที่ตลาดซบเซา เศรษฐกิจโลกถดถอย
ญี่ปุ่นเคยใช้มาตรการ ผ่อนคลายทางการเงิน Quantity Easing หรือ QE แบบสหรัฐฯในช่วงเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Recession) เมื่อปี 2008 มาแล้ว
การนำกระบวนกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการ QE อีกครั้งจึงสามารถทำได้ทันที
ด้วยการนี้ รัฐบาลใช้โมเดลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจรูป V-shaped
V-shaped คือรูปอักษรตัว V ที่ขีดหน้า คือขาลง ไปจนก้นแหลม ขีดหลังตัวอักษร คือ / เป็นตัวขาขึ้น
ช่วงนี้ถือว่าเศรษฐกิจตกลงมาจนถึงก้นตัววีแล้ว ถึงจุดนี้ จะต้องรีบดีดขึ้นไป ด้วยการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผลผลิตภายในประเทศ การส่งออก การใช้จ่ายภายในประเทศหรือการบริโภคของประชาชน การใช้จ่ายขอรัฐบาล รายได้จากธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ GDP ทั้งสิ้น
กูรูเศรษฐกิจวิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย( recession)หรือถึงกับตกต่ำ (depression) จากพิษโควิด-19 คราวนี้ จะทำให้ เศรษฐกิจโลกลดขนาดลงถึงกว่า 40%
จีดีพีของไทยลดตาม อัตราเติบโตปีนี้ ระดับ -3.8 % ถึง-6.5% และหากมีการระบาดละลอก 2 หรือ second wave ที่สังหรณ์ใจว่าจะเกิดปลายปีนี้ซ้ำ ก็อาจจะถึง -10%
ไม่รู้ว่าเราวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจกันหรือยัง ? และแบบไหน
แบบตัว V คงยาก เพราะขาลงมา 6 ปีแล้ว ไม่มีโควิด-19 ก็ยังแย่อยู่ แล้ว พอมาเจอไวรัสเข้า ยิ่งหนัก
เอารูปอะไรดีล่ะ
L-shaped ไหม คือลงมาถึงก้นแล้วไม่เงยหัว เป็น New Normalแบนแต๊ดแต๋ไปเลย !