ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สาระสำคัญ นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้ นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย ข้อห้าม คือ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา และการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย ระเบียบดังกล่าวจะมิให้นำมาใช้บังคับแก่นักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนหรือกิจกรรมของสถานศึกษาให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต ภายใต้ข้อบังคับให้สถานศึกษา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ และการดำเนินการให้ยึดถือหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพ ที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หลายประเทศเห็นความสำคัญเรื่องอิสระทางความคิดของนักเรียน แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้บริหารจัดการได้ ว่าจะออกกฎระเบียบอะไรมาสร้างระเบียบวินัยสำหรับนักเรียน “ ถ้านักเรียนผมยาว แต่รักษาระเบียบวินัยทุกอย่าง โรงเรียนจะรับได้หรือไม่ ส่วนนักเรียนผมสั้น แต่ไม่มีวินัยในการเข้าเรียน ไม่มีความรับผิดชอบ โรงเรียนจะแก้ปัญหาอย่างไร” ถือ เป็นคำถามที่ท้าทาย ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องทรงผมนักเรียนเป็นข้อถกเถียงมานาน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งเรื่องของสุขลักษณะ ความเหมาะสมกับวัย ที่ต้องการให้สนใจการเรียนมากกว่ารูปลักษณ์ กระนั้น เหนืออื่นใด คือสถานศึกษาเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างคนให้มีระเบียบวินัย รักษากติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคม ฉะนั้น การเรียนการสอนในโรงเรียนจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กมีวินัยตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งมีความสำคัญ เพื่อให้เต็บโตมาเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพสำหรับประเทศชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ เช่นช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนความสำคัญของการมีวินัยของคนในชาติ ที่ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดนั้น มาจากการมีวินัยในการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลของประชาชน แม้จะยังมีภาพการเบียดเสียดยัดเยียด แต่เป็นปัญหาเรื่องของการจัดการเสียมากกว่า ความตั้งใจที่จะฝ่าฝืนกติกาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาจะต้องวางรากฐานเรื่องวินัยให้เข้มข้น โดยต้องรักษาสมดุลไปกับการส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาประเทศชาติ ในขณะเดียวกัน เมื่อเบ้าหลอมเรื่องวินัยและความคิดสร้างสรรค์มาอย่างดีแล้ว ระบบราชการเองก็ต้องปรับให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย เพราะต่อให้สร้างเด็กมีดีมีคุณภาพ มีวินัยและสร้างสรรค์แค่ไหน โตขึ้นเข้ามาสู่แวดวงราชการแล้ว มาเจอระบบ “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” ก็เอวัง