จริงอยู่ ! แม้ "พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา" เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออกมาระบุกับสื่อมวลชน ว่า การพิจารณาให้ยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นั้นต้องดูข้อมูลหลายด้านนำมาประกอบกัน นอกเหนือไปจาก "ผลสำรวจความเห็น" จากประชาชน ซึ่งจะเป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" เท่านั้น เนื่องจากยังมีมิติในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความปลอดภัยของประชาชน เช่นเดียวกับเคอร์ฟิว เพราะทุกวันนี้แม้ยังไม่มีการอนุญาตให้เปิดสถานบริการกลางคืน อย่างผับ บาร์ แต่ก็ยังพบว่ามีประชาชนออกมามั่วสุมกันในตอนดึก แต่ดูเหมือนว่า "สัญญาณ" จาก พล.อ.สมศักดิ์ เลขาฯ สมช.ที่ส่งออกมาล่าสุด มีแนวโน้มว่าที่สุดแล้ว จะไม่มีการ "ต่ออายุ" พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ หลังวันที่ 31 พ.ค.ไปแล้ว "อาจจะพิจารณาขยายเวลาออกไปจากเดิม ซึ่งต้องดูกิจกรรมที่จะผ่อนปรนในระยะที่ 2 ว่ามีอะไรบ้าง หากยังมีเคอร์ฟิวจะส่งผลกระทบอย่างไร หรือยกเลิกเคอร์ฟิว จะมีผลอะไรตามมา ส่วนหากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงเวลาไหนนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือในภาพรวมที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง สักวันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่แล้ว ไม่สามารถใช้ไปตลอดได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้" (11พ.ค.63) โอกาสและความเป็นไปได้ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "ผู้นำรัฐบาล" และ "ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" หรือศบค. จะเลือกตัดสินใจ ไม่ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจึงเป็นไปได้สูง โดยอาศัย "โพล" ที่ได้สั่งการให้สมช.ไปดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ซึ่งบัดนี้ปรากฎว่า ได้มีประชาชน ได้ตอบคำถามโพลดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์กันไปบ้างแล้ว ว่ามีความเห็นอย่างไรต่อการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป หรือไม่ รวมทั้งยังมีการตั้งคำถามด้วยว่า การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นกระทบต่อชีวิตด้านใดบ้าง อย่างไรก็ดี แนวคิดของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปหรือไม่นั้น หากมองในมุมของ "พรรคฝ่ายค้าน" ว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังใช้ "หน่วยงานด้านความมั่นคง" หาเหตุผลเพื่อ หาทางยืดอายุ "อำนาจ" ในมือของตัวเองด้วยการ "ต่ออายุ" พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ตาม ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง มีรายงานว่ารัฐบาลเองได้รับแรงกดดันจากการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ไม่น้อย แม้ทุกคนจะรู้ดีว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และที่สำคัญยังกระทบต่อรายได้ของประชาชนอีกด้วย และหากในฐานะผอ.ศบค. จะยึดเอา "ตัวเลข" สถิติ "ผู้ติดเชื้อรายใหม่" มาเป็นตัวชี้วัดในการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ไปจนถึงการพิจารณาให้คงอยู่หรือยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมจะกลายเป็นการ "สร้างเงื่อนไข" ให้กับตัวรัฐบาลเสียเอง ดังนั้นการมอบหมายให้ "หน่วยงานด้านความมั่นคง" ไปสำรวจความเห็นของประชาชน ผ่านโพล จึงอาจถือเป็น "ตัวช่วย" ที่มีน้ำหนักและมีความชอบธรรมมากพอ ที่จะมีช่อง "ลดแรงเสียดทาน" ให้กับตัวเอง !