โฟกัสประเทศไทยจับจ้องอยู่กับการคลายล็อกระยะที่สอง หรือเฟส 2 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เตรียมยกร่างมาตรการผ่อนปรนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.พิจารณา หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ โดยรอบนี้จะเป็นการผ่อนปรนให้กับกิจการขนาดใหญ่ และกิจการที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนเมษายน 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ ปรับลดลงมาก จากเดือนก่อน ที่ 42.6 มาอยู่ที่ 32.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจใน ปี 2542 หมายความว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ ทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 และเป็นการปรับตัวลงในทุก sector สะท้อนว่าสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง สำหรับผู้ประกอบการในภาค การผลิตมีความเชื่อมั่นด้านการผลิต ค่าสั่งซื้อ และผลประกอบการ อยู่ในระดับต่ำมาก
โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และ กลุ่มผลิตยานยนต์ ขณะที่ความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคที่มิใช่การผลิต น่าโดยกลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร และกลุ่มโลจิสติกส์ เนื่องจากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเพื่อควบคุมการระบาดของโรค
ขณะที่ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีเชื่อมั่นลดลงจากเดือนก่อนสู่ระดับ 37.8 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับต่ำที่สุดช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่ ระดับ 37.1 จากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้ม ยืดเยื้อและรุนแรง โดยดัชนีฯ ลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่ การผลิต โดยในภาคการผลิต พบว่าผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผู้ผลิตเหล็กและผู้ผลิตยานยนต์มีความเชื่อมั่นลดลงมาก จากคำสั่งซื้อ
และปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะลดลงและอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงมาก สะท้อนว่าอาจมี การลดการจ้างงานในอนาคต ส่าหรับภาคที่มิใช่การผลิต กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มโลจิสติกส์คาดว่าคำสั่งซื้อและผลประกอบการจะลดลงมาก ตามความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวประกอบกับมีการกักตุนสินค้าในช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการ ปิดเมืองไว้ค่อนข้างมาก
ด้านกลุ่มก่อสร้างมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และปริมาณการก่อสร้างลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้าน การจ้างงานลดลงเช่นกัน
หากพิจารณาจากผลการสำรวจนี้ จะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการลงทุน และการจ้างงานที่ลดลง ในขณะที่ตัวเลขคนตกงานและว่างงานสะสมเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน หากยังปิดล็อกพื้นที่บรรดากิจการน้อยใหญ่ก็จะปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะแม้จะมีการผ่อนปรนในระยะแรก ก็ยังมีผู้ประกอบการบางแห่งที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางสาธารณสุขได้ หรือแม้จะทำได้ก็เลือกที่จะไม่ทำเพราะไม่คุ้มทุนเป็นต้น
ในขณะที่การผ่อนปรนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม และเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสอง
ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จะทำให้มี “คนจนใหม่” เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการบ้านคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และรัฐบาลที่จะต้องสร้างกระบวนการแก้จนขึ้นมาอย่างเร่งด่วน ก่อนจะสายเกินไป