ภายหลังจากที่รัฐบาลมีมติให้ "คลายล็อค" เริ่มเปิดเมือง เปิดทางให้ "กิจกรรม-กิจการ" บางประเภท สามารถกลับมา "ขยับ"ได้อีกครั้ง เมื่อได้มีการประเมินกันแล้วว่า ด้วยคำสั่งทางกฎหมาย ผ่านพ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ตามหลักของ "ระบบสาธารณสุข" นานนับเดือนที่ผานมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลและ "ระบบการแพทย์" ของไทย "เอาอยู่" รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ค่อนข้างน่าพอใจ และยิ่งเมื่อพบว่า สถิติตัวเลข "ผู้ติดเชื้อรายใหม่" ของไทย นั้นยังตรึงเอาไว้ที่ตัวเลข "ตัวเดียว" อยู่ในหลักหน่วย ได้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนในสังคมไทย ทั่วประเทศ ต่างให้ความร่วมมือเกินกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติก็ตาม ด้วยเหตุและปัจจัยที่ออกมาในทางที่เป็น "บวก" มากกว่า "ลบ" จึงทำให้ รัฐบาล และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ซึ่งต่างมี "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี นั่งอยู่หัวโต๊ะทั้งสอง คณะ จึงไฟเขียวให้มีการผ่อนปรนในระยะแรก ระหว่างวันที่ 8-16 พ.ค.นี้ และจากตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากการรายงานของศบค.ประจำวันที่ 10 พ.ค. พบว่า ยังอยู่ที่เลขตัวเดียว นั่นคือ "5 ราย" ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดเสียชีวิตสะสม 56 ราย หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่มอีก 7 ราย รวมยอดหายป่วยสะสม 2,794 ราย และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 159 ราย อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข้อแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข โดย "นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ภายหลังมาตรการผ่อนปรนกิจการ-กิจกรรม ได้ครบ 1 สัปดาห์ ถือว่าค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่มีการถอยหลังจากการแพร่ระบาดในวงกว้างมาเป็นวงจำกัด ดังนั้นต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาผู้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในระดับที่ต่ำไปให้ได้มากที่สุดด้วยมาตรการต่างๆ "การที่เราพบผู้ป่วยวันนี้ 5 ราย และพบเป็นการระบาดในประเทศ 2 ราย ไม่ได้แปลว่าในประเทศวันนี้มีผู้ป่วยแค่ 2 ราย สิ่งที่สำคัญคือ โรคนี้อาการค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่ได้ติดเชื้อ ในส่วนนี้ทาง กระทรวงสาธารณสุข จึงมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน (Active case finding) จะคลายใจได้ต่อเมื่อการระบาดในทั่วโลกเริ่มดีขึ้น หรือ การมีวัคซีนสำหรับคนกลุ่มสำคัญ กลุ่มยุทธศาสตร์ ในประเทศไทย เราจึงจะเข้าระยะที่ 3 คือระยะฟื้นฟูได้ โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนของทั้ง 3 ระยะ เรียบร้อยแล้ว" (10พ.ค.63) ตราบใดที่สถานการณ์โควิดยังไว้วางใจไม่ได้ นั่นหมายความว่า ทั้งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า "สงครามไวรัส" ครั้งนี้ "เดิมพัน" ของพล.อ.ประยุทธ์ เองที่ถือเอาไว้ในมือนั้นสูงลิบลิ่ว ไม่ใช่น้อย ! เพราะผลจากการ "แพ้" หรือ "ชนะ" ที่จะเกิดขึ้น จากสงครามไวรัสครั้งนี้ จะเป็นได้ทั้ง "จุดอ่อน" และ "จุดแข็ง" ให้กับตัวพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล โดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองมากกว่าใคร ทั้งในเชิงบริหาร และในฐานะ "ตัวจริง" ของ "พรรคพลังประชารัฐ" อีกด้วย !