ณรงค์ ใจหาญ
เนื่องจากในปัจจุบันความต้องการแรงงานไร้ฝีมือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเจริญเติบโตทางธุรกิจ ทำให้มีการผลิตและงานด้านบริการมีมากขึ้น ประกอบกับค่าจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบันมีอัตราที่สูงกว่าในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับประเทศไทย ทำให้มีบริษัทหรือคณะบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยเพื่อให้นายจ้างในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจประกอบการโดยมีใบอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตก็ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับบริษัทหรือผู้นำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตนี้ อาจเกิดการกระทำที่นำไปสู่การบังคับแรงงาน การเอาเปรียบค่าแรงหรือการคิดค่าบริการที่สูงเกินสมควรได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่อไป
การนำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง กล่าวคือ นายจ้างได้แรงงานมาทำงานให้กับกิจการของตนตามความต้องการ ในส่วนของลูกจ้างเองก็ได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าการทำงานในประเทศของตน จึงเป็นสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ในขณะที่การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในงานเหล่านี้ก็ไม่ได้กระทบต่อการทำงานของแรงงานไทย เพราะคนไทยก็ไม่ได้ทำงานในกิจการนั้นๆ อยู่แล้ว อีกทั้งในทางนโยบายของรัฐบาลไทยในปัจจุบันต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยพัฒนาฝีมือแรงงานและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองกับการเข้าสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิตัล และการดำเนินธุรกิจและโลจิสติกส์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังพัฒนาในบริเวณชายแดนหลายแห่ง
ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการควบคุม กำกับการนำพาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยนี้เอง ทำให้มีการตราพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานให้นายจ้างในประเทศไทย พ.ศ. 2559 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 70 ก ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป แต่พระราชกำหนดนี้ จะไม่บังคับกับการจัดหางานสองกรณี คือ การจัดหางานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน และตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานทะเล แต่การจัดหางานตามพระราชกำหนดนี้ จะนำมาใช้กับการจัดหางานที่คนต่างด้าวนั้นได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อเข้ามาทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้มีการจ้างแรงงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของนายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวมาขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ คนที่นำพาเข้ามาจะคิดค่าบริการในการนำเข้าหรือไม่ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย
การนำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศนั้น สามารถทำได้สองกรณีคือ มีผู้ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งต้องมีใบอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน หรืออีกกรณีหนึ่ง นายจ้างเป็นผู้นำพาเข้ามาเอง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมจัดหางานเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ วีธีการ และเงื่อนไข เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด (มาตรา 6,8)
ผู้ที่ประกอบธุรกิจนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ จะต้องขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมจัดหางาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 9 และต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งต้องมีทุนจดทะเบียนตามที่อธิบดีกรมจัดหางานกำหนด รวมถึงมีทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด อีกทั้งผู้จัดการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และคุณสมบัติข้ออื่นๆ ตามมาตรา 10 นอกจากนี้ยังต้องวางหลักประกันเพื่อเป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไว้อีก ตามจำนวนเงินที่อธิบดีกรมจัดหางานกำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าล้านบาท (มาตรา 11) ใบอนุญาตมีกำหนดสองปี แต่สามารถขอต่อใบอนุญาตได้ และต้องใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย
ข้อจำกัดอีกประการคือ ลูกจ้างของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร บริษัทต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างไว้ และต้องใช้ลูกจ้างที่ได้จัดทำทะเบียนนี้ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการนำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น
ส่วนการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อทำงานให้แก่นายจ้างในประเทศนั้น บริษัทผู้ได้รับใบอนุญาต้องทำสัญญากับนายจ้าง ซึ่งต้องมีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำตามแบบที่อธิบดีกรมจัดหางานกำหนด (มาตรา 24) และการเรียกค่าบริการและค่าใข้จ่ายจากนายจ้างต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมจัดหางานกำหนด จะเรียกเกินกว่านั้นไม่ได้ รวมถึงจะไปเรียกเอาจากคนต่างด้าวก็ไม่ได้เช่นกัน (มาตรา 25) นายจ้างที่นำแรงงานเข้ามาเองก็ต้องวางประกันเช่นเดียวกันจึงจะได้รับอนุญาตให้นำแรงงานเข้ามาทำงานในกิจการของตนได้ (มาตรา 27)
เมื่อลูกจ้างออกจากงาน ครบสัญญาเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะส่งลูกจ้างกลับไปประเทศต้นทางที่ลูกจ้างอยู่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันลาออกหรือไม่ทำงาน และแจ้งอธิบดีกรมจัดหางาน ถ้าไม่ดำเนินการทางกรมจัดหางานจะดำเนินการจัดส่งและหักค่าใข้จ่ายจากหลักประกันที่วางไว้ (มาตรา 28) ส่วนผู้รับอนุญาตให้นำพาลูกจ้างเข้ามาให้นายจ้างในประเทศ เมื่อมีการเลิกจ้างหรือลาออก เป็นหน้าที่ของบริษัทรับอนุญาตเป็นคนส่งกลับภายในสิบห้าวัน เว้นแต่จะได้งานจากนายจ้างใหม่ ถ้าไม่ทำให้อธิบดีกรมจัดหางานส่งกลับแล้วคิดค่าใข้จ่ายจากหลักประกันที่วางไว้ (มาตรา 29)
บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้นำพาแรงงานเข้ามาในราชอาณาจักร จะสามารถให้ใช้ชื่อว่า “บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ”และจะให้คำต่างประเทศที่มีความหมายเดียวกันประกอบได้ (มาตรา 34) ถ้าบริษัทใดไม่ได้รับใบอนุญาตมาใช้ชื่อดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 54)
การขึ้นทะเบียนบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ เป็นมาตรการหนึ่งที่ควบคุมการนำพาแรงงานเข้ามาและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีกลไกในการควบคุมการดำเนินงานและเป็นหลักประกันมิให้มีการเรียกค่าใช้จ่ายและค่าบริการ ที่ไม่เกินสมควร โดยทางรัฐจะเป็นผู้วางอัตราในการเรียกค่าบริการ ถ้าเรียกเกิน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าเท่าของค่าบริการ ถ้ามีการเรียกค่าบริการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับห้าเท่าของเงินหรือทรัพย์สินที่เรียก (มาตรา 52)
ส่วนที่นายจ้างที่นำคนงานต่างด้าวมาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 45) หรือถ้าผู้ไม่ได้รับอนุญาตแสดงตนว่าเป็นผู้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน โดยเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ((มาตรา 51) ส่วนการที่นายจ้างไม่แจ้งต่ออธิบดี และไม่จัดส่งลูกจ้างกลับประเทศต้นทาง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 53)
โดยสรุป การควบคุมบริษัทจัดหางานของแรงงานต่างด้าวตามนโยบายที่รัฐบาลที่จะเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นมาตรการในการควบคุมและเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการที่เป็นระเบียบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและป้องกันการค้ามนุษย์ โดยจัดระเบียบให้มีการควบคุมผู้เข้ามาทำหน้าที่ และมีหลักประกันการส่งกลับประเทศต้นทางด้วยเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ