ทวี สุรฤทธิกุล
ฉากทัศน์ที่สอง คือ “การตัดสินใจแก้ปัญหาแบบร่วมมือ”
วิกฤติโควิด-19 ทำให้กระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ “แบบโบราณ” คือแสดงความเป็นเจ้าใหญ่นายโตแบบ “คิดเอง ตัดสินใจเอง” ใช้ไม่ได้ ซึ่งถ้าเราติดตามการทำงานของรัฐบาลตั้งแต่เดือนมกราคมที่ทราบข่าวการระบาดของโรคร้ายนี้ในประเทศจีน รัฐบาลไทยยังอยู่ในภาวะ “ไม่ยี่หระ” คือยังไม่มีปฏิกริยาอะไรออกมา มีเพียงคำพูดจากการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “จะเฝ้าดูสถานการณ์ไปก่อน” แต่พอจีนประกาศให้คนในประเทศงดเทศกาลตรุษจีน คณะรัฐมนตรีจึงรู้สึกตื่นตัว แต่กระนั้นก็ยังไม่มีมาตรการอะไร นักท่องเที่ยวจีนและทุกประเทศยังเดินทางเข้าออกไทยได้เป็นปกติ แม้ในเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มมีรายงานของผู้ป่วยในประเทศไทยออกมาประปราย แต่รัฐบาลก็บอกว่ายังไม่น่าตกใจเพราะป่วยเฉพาะชาวต่างประเทศและคนไทยที่สัมผัสกับชาวต่างประเทศเหล่านั้นเท่านั้น กระทั่งต้นเดือนมีนาคมที่มีคุณแมทธิว ดีน ออกมาเปิดเผยว่าตนเองติดเชื้อโควิดจากการไปทำงานเป็นผู้ประกาศที่สนามมวยของทหาร(ซึ่งขณะนี้การสอบสวนเอาผิดผู้รับผิดชอบก็ยังไม่เปิดเผย) จึงเริ่มมีการประกาศงดเดินทางเข้าออกประเทศ พร้อมกับจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นวันละนับร้อยคน พร้อมกับ “ทยอย” ให้แต่ละจังหวัดวางมาตรการในการล็อคดาวน์แบบ “ตัวใครตัวมัน” จนถึงปลายเดือนมีนาคมเมื่อตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มพรวดพราดเข้าหลักสองพันคน จึงออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาล็อคดาวน์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ แต่กระนั้นก็โดนสวดซะสาดเสียเทเสียว่าล่าช้าไม่ทันกิน
บางท่านอาจจะพอสังเกตเห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาลช่าง “ยึกยัก” เสียเต็มประดา คำตอบก็คือรัฐบาลขาดความมั่นใจในการตัดสินใจโดยลำพัง (แต่ถ้าเป็นอภิมหาโปรเจ็คแว๋บๆ ต่างๆ จะว่องไวฮย่างมากโดยไม่ต้องปรึกษาใคร) ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลต้องใช้คณะคุณหมอมาให้ข้อมูลในการตัดสินใจในช่วง “เข้าด้ายเข้าเข็ม” เพราะนั่นก็คือการลดความเสี่ยงที่รัฐบาลจะได้ไม่เสียรังวัดเพียงลำพัง ถ้าหากการตัดสินใจนั้นผิดพลาด คือมีคณะคุณหมอมาช่วยรองรับความเสี่ยงด้วย นี่ก็คือ “วิสัย” ของนักการเมือง คือ “ได้ดีเอา ถ้าเน่าทิ้ง” รับแต่ความชอบแต่ไม่รับข้อผิดพลาด แต่บังเอิญคณะคุณหมอนั้นเป็นมืออาชีพ “ของแท้” การตัดสินใจจึงถูกต้อง อนึ่งการตัดสินใจแบบยึกยัก “เป๋ไปเป๋มา” นี้ยังรวมถึงการตัดสินใจในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ที่ดูไม่พร้อมไม่สมบูรณ์ เหมือนกับว่าต่างคนต่างคิด(ก็เลยออกมาเป็นต่างคนต่างทำนั้นด้วย) ซึ่งปัญหานี้จะเป็นการบ้านข้อใหญ่ให้รัฐบาลต้อง “รับเละ” หลังวิกฤติโควิด-19 นี้อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็แน่นอนว่า นักการเมืองในฝ่ายที่ตัดสินใจผิดพลาดก็จะ “โยนอุจจาระ” รวมถึงอาจจะไป “ป้ายสี” ให้คนอื่นต้องรับเคราะห์แทน หรือร่วมรับกรรมนั้นด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นในเรื่องการตัดสินใจในวิกฤติครั้งนี้ก็คือ การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลได้ผลน้อยกว่าการสร้าง(หรือขอ)ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการกระจายอำนาจ(ความจริงคือกระจายความรับผิดชอบ) แม้แต่ในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ รัฐบาลก็พยายามให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยกันดูแลด้วย โชคดีที่สังคมไทยมีพื้นฐานของความเมตตาและโอบอ้อมอารีเป็นทุนเดิม รัฐบาลจึงไม่ต้องออกแรงมากนัก แต่นั่นก็แสดงถึงการลดทอนความสำคัญของการใช้อำนาจรัฐ โดยที่อำนาจทางสังคมคือการรวมพลังกันของภาคพลเมืองมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลอาจจะอ้างถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า นี่คือ “อาวุธ” ที่ทรงอานุภาพที่สุด เพื่อจะเป็นการยืนยันว่าอำนาจรัฐยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อำนาจตามกฎหมายนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียง “ความยินยอมชั่วครู่” ที่ประชาชนให้การยอมรับในภาวะวิกฤตินั้น แต่หากประชาชนไม่ยินยอมพร้อมใจให้แล้ว “อำนาจพิเศษ” นั้นก็ไร้ความหมาย ทั้งยังจะสร้างรอยร้าวให้แก่สังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างที่ปรากฏอยู่ในบางประเทศที่ประชาชนให้ความสำคัญแก่กฎหมายน้อยกว่าเสรีภาพของบุคคล
ฉากทัศน์ที่สาม คือ “การบริหารสู่การบริการ” โดยที่อำนาจควบคุมของรัฐบาลได้ลดบทบาทลง(ที่ยังมีผลใช้ได้ดีอยู่ก็เพราะประชาชนยอมรับด้วยสภาวะทาง “จิตสำนึก” ดังที่กล่าวมาก่อนนี้) อำนาจบริหารที่เป็นอำนาจที่รัฐชอบใช้มาโดยตลอด ได้ถูก “ปรับรูป” จากรูปของการบังคับใช้เป็นการขอความร่วมมือ (โปรดสังเกตว่าบรรดาประกาศและคำสั่งต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและในจังหวัดต่างๆ จะเป็นประกาศและคำสั่งในลักษณะของ “การขอความร่วมมือ” เสียส่วนมาก โดยไม่ค่อยเน้นการกำหนดโทษ แต่เน้นข้อปฏิบัติหรือการสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นหลัก) เช่นเดียวกันกับบทบาทของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ลดความแข็งกร้าวลงไปมาก ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างรูปแบบของการให้บริการ หรือการทำงานเพื่อสนองตอบต่อความพึงพอใจของประชาชน รวมทั้งความพยายามที่จะไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งทางสังคม โดยภาครัฐพยายามที่จะเป็นผู้ประสานงานไกล่เกลี่ย มากกว่าที่จะบังคับควบคุมหรือใช้ “ฆ้อนทุบ” ในการดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งนั้น
การบริหารภาครัฐในยุคต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องแข่งขันหรือเอาแบบอย่างของการ “บริการลูกค้า” แบบภาคธุรกิจ(ที่รัฐใช้เป็นต้นแบบมากว่า 2 ทศวรรษนั้นแล้ว) ภาครัฐยังต้องปรับตัวเข้ากับการทำงานร่วมกับภาคประชาชนที่แต่เดิมเจ้าหน้าที่ของรัฐยังต้อง “วางฟอร์ม” ว่ามีอำนาจเหนือกว่า แต่ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้อง “นอบน้อม” หรือมีความสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ถูกจับตามองด้วย “สายตาทางสังคม” มากขึ้น โดยเฉพาะมีโซเชียลมีเดียเป็น “ตาวิเศษ” รวมถึงการที่ต้องทำงานภายใต้ตัวชี้วัดที่ต้องสร้าง “คุณภาพถ้วนทั่ว” ในการให้บริการแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องปรับตัวเป็นอย่างมากภายใต้สภาวะที่ต้องทำหน้าที่ให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว
ในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอในฉากทัศน์สุดท้าย(แต่คงไม่ใช่ท้ายที่สุด)ของการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดของ “การปกครองแบบดูแลกันและกัน” ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นภาพได้รอบด้านว่า สุดท้ายแล้ว การปกครองแบบดูแลกันและกันจะส่งผลอย่างมหาศาลต่อมนุษยชาตินี้อย่างไร