เสือตัวที่ 6 ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองปลายด้ามขวานของไทย ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐของขบวนการนี้อย่างแน่วแน่ โดยยึดมั่นในแนวคิดสุดโต่ง เหนียวแน่นตลอดมา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มขบวนการคิดต่างในพื้นที่ ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นต่อไปไม่เสื่อมคลาย ทำให้ถึงวันนี้ปัญหาความคิดต่างของคนในพื้นที่ที่ถูกปลุกระดมจากบรรดานักจัดตั้งมวลชนของขบวนการแห่งนี้ ยังคงเป็นปัญหาที่สืบทอด สั่งสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ ทั้งในระดับท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างแนบเนียน เพื่อการเข้าถึงพี่น้องในชุมชนได้อย่างลุ่มลึก โดยอาศัยปัจจัยเดิมๆ ที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความเห็นต่างจากรัฐ กล่าวคือประเด็นความต่างของชาติพันธุ์ ศาสนา/ความเชื่อความศรัทธา อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ วิถีชุมชนในรูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมที่อ้างว่าสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และผ่านเรื่องราวเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกความเคืองแค้นระหว่างคนในพื้นที่กับคนทั่วไปของรัฐ ควบคู่กับการขับเคลื่อนการต่อสู้ในระดับชาติ ผ่านองค์กรทางการเมืองทั้งหลายที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ร่วมกับการต่อสู้ผ่านการขับเคลื่อนในระดับนานาชาติในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ เพื่อสื่อให้ชาวโลกได้เล็งเห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพของปัญหาสามารถแยกออกเป็น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก และปัญหาภัยแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสนับสนุน ส่งเสริมให้ปัญหาหลักมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประเด็นที่ขับเคลื่อนของคนในขบวนการอย่างเป็นยุทธศาสตร์นี้ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างชัดเจนกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยถูกชี้นำให้ประชาชนในพื้นที่ทุกเพศ ทุกวัย เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกปกครองจากรัฐไทย ทำให้มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์กรลับและจัดอาวุธขึ้นมาต่อสู้ โดยสถานการณ์ จากหน่วยงานความมั่นคงต่างยืนยันตรงกันว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิบัติประชาชาติปัตตานี (BRN – Coordinate) เป็นกลุ่มหลักในการต่อสู้ ซึ่งมีความคิดในการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องยาวนาน โดยบรรดานักคิดในขบวนการแปลกแยกจากรัฐ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ มุ่งไปสู่การได้เอกราช ด้วยการปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรง การก่อวินาศกรรม และการบ่อนทำลายเพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่ปี 2555 สถิติเหตุการณ์และการสูญเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัด โครงสร้างของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธถูกค้นพบ สูญเสียกองกำลังติดอาวุธ มวลชนและแนวร่วมลดลง จากทั้งการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งความสำเร็จในโครงการพาคนกลับบ้านของรัฐ ทำให้มีจำนวนผู้ร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ เกิดทัศนะใหม่ กลับตัวกลับใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านมากขึ้น และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในขณะเดียวกัน ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมของขบวนการนี้ ถูกจำกัดเสรีในการปฏิบัติการอย่างหนัก แต่กระนั้นก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งในขบวนการ ยังคงมุ่งมั่นแนวคิดสุดโต่ง นิยมความรุนแรง มีความพยายามในการก่อเหตุร้ายอยู่ต่อไป หากแต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีและรูปแบบในการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่อย่างสะเปะสะปะ มาเป็นการก่อเหตุแบบเร่งด่วนที่เลือกเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐมากขึ้น ทั้งนี้ ก็มีบางกลุ่มยังคงมุ่งกระทำต่อเป้าหมายที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น เขตเมืองเศรษฐกิจและเป้าหมายที่เปราะบางมากขึ้น รวมทั้งผู้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่คนในพื้นที่ไม่ให้ร่วมมือกับรัฐ ทั้งยังเป็นการตอบโต้และทำลายความเชื่อมั่นและจากภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทบกับประชาชนผู้บริสุทธิ์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้แทนองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และองค์กรสิทธิมนุษย์ชน (Human Right Watch) แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้อย่างชัดเจน และออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาแสวงหาทางออกของปัญหาชายแดนใต้ด้วยวิธีการรุนแรงอย่างเช่นที่ผ่านมา เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นแล้วว่า การใช้ความรุนแรงของคนในขบวนการ ไม่ใช่จุดจบของปัญหา หากแต่จะเป็นการบั่นทอน ทำลายศักยภาพของคนในพื้นที่ในการลืมตาอ้าปากสู้กับโลกภายนอกได้ โดยประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจน ผ่านการสำรวจทัศนคติ ที่ต้องการให้รัฐและกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตามแนวทางสันติวิธี เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ต่างเบื่อหน่ายกับความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนาน และเป็นห่วงต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจระดับครอบเรือน ที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย คุณภาพการศึกษาของบุตรหลานในพื้นที่ ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และยาเสพติดที่ระบาดอยู่ทั่วไป โดยต่างต้องการให้รัฐเร่งพัฒนาพื้นที่ ให้มีความเจริญทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ โดยคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยเส้นทางและชุมชนของตนเองในรูปแบบต่างๆ อาทิ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชุดคุ้มครองตำบล รวมทั้งได้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรม เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ และรณรงค์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นมากขึ้น ตลอดจนการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุย เพื่อให้เป็นทาออกจากความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี โดยมีกลุ่มผู้เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น หากแต่การต่อสู้ของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ยังคงมุ่งมั่นอย่างทรงพลังต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่พวกเขาต้องการ นั่นคือ อิสระในการปกครองกันเอง ท่ามกลางการสร้างการรับรู้เข้าใจให้เกิดการเห็นต่างจากรัฐให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ให้กล้าแข็งต่อไป เหล่านี้คือยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ในศึกครั้งนี้ ยังคงดำเนินต่อไป