“ภัยใหญ่หลวงสำหรับทุกชีวิต ตามหลักพระพุทธศาสนามี 3 ประการ กล่าวคือ ความแก่ 1 ความเจ็บ 1 และความตาย 1 ไม่มีภัยอื่นใดที่ผู้คนหวาดหวั่นครั่นคร้ามไปมากกว่าภัยทั้งสามประการนี้อีกแล้ว
พระพุทธองค์ผู้ทรงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ได้โปรดประทานหนทางดับภัยไว้แล้วแก่โลก กล่าวคือ “อริยมรรค” ซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อล่วงพ้นภัย ย่อมดับเหตุแห่งการเกิดที่นำไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ได้อย่างสิ้นเชิง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระปัจฉิมวาจาก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลความว่า “สังขารมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” จึงขอทุกท่าน หันกลับมาพิจารณาชีวิตของตน ผู้ล้วนกำลังเผชิญภยันตรายกันอยู่ทั่วหน้า โดยไม่อาจทราบได้ว่าความเจ็บและความตายจะมาถึงเมื่อไร
ขอจงเร่งสั่งสมอบรม “ความไม่ประมาท” ให้ถึงพร้อม ขอจงเร่งขวนขวายสั่งสมเพิ่มพูนกุศลธรรมให้เจริญงอกงามขึ้นในตน เพื่อผลคือ “สติ” และ “ปัญญา” อันสามารถช่วยให้ล่วงพ้นจากภัยได้ในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อ”ความตอนหนึ่งใน พระคติธรรม ของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา วันพุธ ที่ 6 พฤษภาคม 2563
ในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ ภัยใหญ่หลวง ต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากทำลายชีวิต เศรษฐกิจก็พังพินาศด้วย
ท่ามกลางสถานการณ์ที่การติดเชื้อไวรัส ในประเทศไทยและหลายประเทศเริ่มจะลอตัวลง จากมาตรทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล บวกกับมาตรการภาคบังคับปิดเมือง ปิดกิจการ
แต่กระนั้น ในความจริงที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยุติลงเมื่อใด จึงไม่สามารถปิดเมือง ปิดกิจการไปได้ตลอด จนกว่าจะมีสัญญาณความปลอดภัย หรือจนกว่าจะมีวัคซีนต้านเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพผลิตออกมา
แม้จะมีข่าวว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มทดลองในคนแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองในสัตว์ ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะปรากฎผลสำเร็จในเดือนสองเดือน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่านั้นโดยประมาณการณ์ไว้ถึงในช่วงปลายปี 2563 อาจช้าหรือเร็วกว่านั้น
แต่ความอดอยากหิวโหย ทนทุกข์ทรมาน ความเบื่อหน่ายฟุ้งซ่านที่ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเป็นเวลานานๆ ทำให้ความรักตัวกลัวตายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ค่อยๆหดหายไป เพราะกลัวจะอดตายเสียก่อนมากกว่า
ดังนั้น หลายประเทศรวมทั้งไทย หลายประเทศจึงเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการลง โดยแต่ละประเทศต้องบริหารความเสี่ยง ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีโอกาสกลับมาระบาดระลอกสอง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ และญี่ปุ่น
จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐ จักต้องกำหนดมาตรการให้รอดคอบรัดกุม บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ที่เอื้อต่อคนเล็กคนน้อยอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องมีระบบสุ่มตรวจก่อนกำหนดคลายล็อกจริง ในขณะที่ผู้ประกอบการ หรือผู้ดูแลสถานที่เสี่ยงต่างๆ ต้องควบคุมอย่างเข้มวดและเคร่งครัด ตามข้อกำหนด และจัดระบบป้องกันต่างๆ เช่น การยื้อแย่งโกลาหล ในขณะที่ประชาชนเองที่เคร่งครัดปฏิบัติมาอย่างไร ก็ขออย่าได้ผ่อนลง หรือแผ่วปลาย เมื่อทุกฝ่ายไม่ประมาทก็คาดว่าไทยจะฝ่าวิกฤติไปได้โดยไม่ติดกับระเบิดรอบสอง และท้องไม่หิว