สำนักข่าวต่างประเทศ อ้างอิงเอกสารภายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เปิดเผยงานวิจัย ข้อมูลแบบจำลองสถิติที่ถูกรวบรวมจากหลายสถาบัน คาดการณ์อาจมีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,000 ศพต่อวัน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 2 แสนราย ในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม หลังหลายพื้นที่ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไม่สามารถจะดำเนินมาตรการปิดเมืองและปิดกิจการไปได้ตลอด เพราะยังมีผู้คนอีกหลายส่วนที่อาจจะไม่รอดจากมาตรการต่างๆ ดังจะเห็นได้จากภาพของผู้คนจำนวนมากต่อคิวยาวเหยียดในระยะทางเป็นกิโล เพื่อรอรับแจกอาหารและสิ่งของจำเป็น การอพยพย้ายถิ่นฐาน และกลับภูมิลำเนาเพราะไม่มีงานทำ เนื่องจากหลายกิจการปิดตัวถาวร และเลิกจ้าง กระนั้น ลมหายใจของผู้คนเหล่านี้ กำลังจะถูกบดบัง ด้วยภาพของความโกลาหล นักเล่าข่าวสำนักหนึ่ง วิจารณ์ปรากฎการณ์ที่ผู้คนแห่กันแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งว่า “อดอยากปากแห้ง” โดยปราศจากข้อมูลที่แท้จริงว่า คนเหล่านั้นที่ไปยื้อแย่งกันเพื่อหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่นักดื่มทั้งหมด แต่มีบรรดาเจ้าของร้านขายของชำ โชว์ห่วยต่างๆ ที่ไปกว้านซื้อเพื่อกักตุนเอาไว้ขาย เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีการประกาศห้ามขายอีกเมื่อไหร่ อีกทั้งกำหนดเวลาในการขาย จากเดิมที่กำหนดไว้ใน 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเวลา11:00 – 14:00น.และ17:00 – 24:00 น.แต่ในช่วงเคอร์ฟิวตั้งแต่ 22.00 น. ทำให้เกิดภาพการยื้อแย่งดังกล่าว ในขณะที่การรวมกลุ่มคนมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความวิตกกังวลว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบที่สอง หรือ คลื่นลูกที่สอง ที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง แต่กระนั้น จึงเป็นเรื่องของจัดระเบียบ และการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบตามข้อปฏิบัติทางสาธารณสุข จนกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดระเบียบแนวทางการปฏิบัติของสถานประกอบการ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอาจมีความผิดตามกฎหมาย และถูกสั่งปิดสถานประกอบการและสถานที่นั้น อย่างไรก็ตาม ภาพการยื้อแย่งกันซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีบางกลุ่มบางพวกนำภาพดังกล่าวไปเหยียดหมิ่นคนยากจน และนำมาเป็นข้ออ้างดิสเครดิตกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เข้าถึงการเยียวยาของภาครัฐ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง อีกภาพหนึ่งคือการเบียดเสียดยัดเยียวกันใช้ระบบขนส่งมวลชน แม้จะมีข้อแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากบรรดาสถานการประกอบการต่างๆ ยังไม่เหลื่อมเวลาในการปฏิบัติงานของพนักงาน ก็จะต้องพบกับสภาพการเดินทางที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นนี้ และหนทางที่จะไปสู่การคลายล็อก ในเฟสที่ 2 และ 3 ก็จะมืดมน หากตัวเลขการติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้น จากการไม่เตรียมพร้อมในการจัดระบบดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งหลาย ทั้งปวง สถานประกอบการต่างๆ จะต้องทบทวนการปฏิบัติอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด เพราะการแก้ไขปัญหาปากท้องนั้นสำคัญ แต่ยังต้องควบคู่ไปกับการรักษาความปลอดภัย ที่ต้องดำเนินไปด้วยกันอย่างสมดุล และไม่ประมาท