ความวิตกกังวลหลังผ่อนคลายมาตรการแล้ว กลับพบพฤติกรรมเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง จะมีการแพร่ระบาดรอบสอง หรือ คลื่นลูกที่สอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพิ่มขึ้น การไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยและการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการตั้งวงดื่มสุราที่ทางการเพิ่งปลดล็อกให้จำหน่ายสุราได้ ภายใต้เงื่อนไขไม่ให้ดื่มภายในร้าน แม้ที่ผ่านมานับรบเสื้อกาวน์ ทีมบุคคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขไทยจะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งภายในและต่างประเทศ แต่หากมีการระเบิดครั้งใหญ่ ก็อาจจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย ขณะเดียวกัน หากกลับมาระบาดในวงกว้างอีกครั้ง รัฐก็จำเป็นต้องกลับไปใช้ “ยาแรง” ที่เข้มงวดเหมือนเดิม ก่อนการผ่อนคลาย ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่สาหัส อาการปางตายอยู่แล้ว ก็จะมีสภาพไม่ต่างจากการส่งเข้าห้องดับจิต ปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ จะยุ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5 แสนกว่าคน กลุ่มที่ต้องว่างงานฉับพลันจากกิจการที่ปิดตัวลงเพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด และกิจการที่ปิดตัวชั่วคราว จากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล ทำให้มีการเลิกจ้างเพราะไม่สามารถแบกรับภาระเงินเดือนของพนักงานได้ ภาพที่ฉายชัดที่สุด คือภาพที่ประชาชนแห่เดินทางออกจากจ.ภูเก็ตหลายพันคน โดยเมื่อเกิดสถานการณ์ช่วงแรกๆ จังหวัดได้ประกาศห้ามเข้าและออก ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพบตัวเลขกว่า 5 หมื่นคนที่แจ้งว่าไม่มีงานทำ และต้องการออกจากจังหวัด แต่ระหว่างนั้นยังไม่ได้รับอนุญาต กระทั่งคำสั่งสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)มีหน้าที่เสนอความเห็นทางวิชาการ แนวทางป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของไวรัส ประกอบด้วย 1.ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธาน 2.ศาสตราจารย์กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ รองประธาน 3.ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กรรมการ 4.ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย กรรมการ 5.รองศาสตราจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กรรมการ 6.รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการ 7.พลตรี นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา กรรมการ 8.นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการ 9.นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ 10.นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมการ 11.นายสมชัย จิตสุชน กรรมการ 12.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ 13.รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง ได้เปรียบชาติอื่นๆแล้ว เราหวังว่า คณะที่ปรึกษาชุดนี้จะเป็นความหวัง คลังสมองสำคัญ มองเห็นโอกาสในวิกฤติ ผลักดันมาตรการต่างๆ อย่างลึกซึ้งและเข้าใจบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโควิด-19 ขณะที่เฉพาะหน้าและเร่งด่วน ต้องช่วยวางกลไกค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เชิงรุก ให้ทั่วถึงและจริงใจ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย