ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สามารถกลับมาดำเนินได้ แบบกึ่งปกติ ให้กับกิจการและกิจกรรมใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ตลาด ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร อาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้างสรรพสินค้า) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3.กิจการค้าปลีกส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง ยืน รับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.กีฬา สันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่ได้มีการแข่งขัน เทนนิส ยิงปืน นิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม 5.ร้านตัดผม เสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ 6. ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ประกาศออกมาเป็นมาตรฐานกลางให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ ซึ่งหากการผ่อนปรนดังกล่าว สามารถดำเนินการไปได้อย่ามีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ก็จะมีการพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่ในทางตรงกันข้าม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีกราฟที่พุ่งขึ้น และอาจนำไปสู่สถานกาณณ์ล่อแหลม ก็อาจต้องกลับไปเข้มงวดกันเหมือนเดิม ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาก็คือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) อนุญาตให้ร้านค้าเปิดจำหน่ายเครื่องดื่นแอลกอฮอล์ได้แล้ว พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดฉบับที่ 6 กรณี “ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุรา ให้เปิดได้แต่ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน” ยืนยันว่า ร้านที่มีใบอนุญาตให้ขายสุรา ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถขายได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสั่งการ ถ้าเห็นว่าควรจำกัด ก็สามารถออกประกาศเพิ่มเติมได้ “วัตถุประสงค์คือให้ซื้อกล้บบ้านได้ บริโภคภายในบ้านกับสมาชิกในครอบครัว แต่อย่าให้ถึงลักษณะมั่วสุม เพราะจะผิดข้อบังคับลักษณะอื่นอีก เจ้าหน้าที่มีสิทธิตักเตือนหรือดำเนินคดีได้ แต่หากการมั่วสุมเกิดขึ้นหลายพื้นที่จะกลายเป็นว่าการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุ อาจนำไปสู่การจำกัดหรืองดขาย ต้องขอความร่วมมือถ้าไม่อยากถูกห้ามปรามเพิ่มเติม” อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับไปสู่สถานการณ์ที่ยากลำบากอีกครั้ง เมื่อมีการผ่อนคลายและยืดหยุ่นให้สามารถทำมาหากินได้ แม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากสามารถรักษาสมดุลไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ก้าวกระโดด ไปสู่สถานการณ์ที่อันตราย ตรงนี้จะเป็นจุดวัดใจสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บสถิติเปรียบเทียบว่าจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้